กทม. 3 ส.ค.-กระแสต่อต้านการใช้พลาสติกแพร่หลายมากขึ้น วันนี้มีตัวอย่างความพยายามลดการใช้พลาสติกที่น่าสนใจ เช่น บางร้านนำก้านผักบุ้งไทยมาทำเป็นหลอดดูดน้ำแทนหลอดพลาสติก หรือที่จุฬาฯ รณรงค์ใช้แก้วน้ำที่ทำจากพลาสติกชีวภาพ
ผักบุ้งกำใหญ่ที่ซื้อจากตลาดสด ถูกส่งมาที่ร้านอาหารสำหรับคนรักสุขภาพสไตล์วีแกน หรือรูปแบบที่ตั้งใจไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งอาหารการกินและผลิตภัณฑ์ ร้านนี้อยู่ปากซอยสุขุมวิท 49 ผักบุ้งไม่ได้ใช้เพื่อทำอาหาร แต่นำมาทำเป็นหลอดดูดน้ำแทนหลอดพลาสติก ซึ่งมีมากว่า 1 ปีแล้ว คับข่าวมีของตามมาดูขั้นตอนถึงในครัวพบว่าไม่ยุ่งยาก หลังทำความสะอาดแล้ว ตัดส่วนลำต้นผักบุ้งให้ได้ความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร เล็มส่วนเกินให้ก้านมีความเรียบ แช่ในน้ำที่ผสมสารช่วยชะล้างสิ่งสกปรกและสารเคมี ก็ใช้งานได้ หลอดผักบุ้งจะผลิตและใช้วันต่อวัน จากนั้นจะกลายเป็นขยะที่ย่อยสลายได้และทำปุ๋ยหมัก
หนึ่งในหุ้นส่วนร้าน เล่าว่า ตอนแรกตั้งใจลดขยะพลาสติก เพราะแต่ละวันมีการใช้ทั้งแก้ว กล่องและหลอดพลาสติกจำนวนมาก ที่เลือกใช้หลอดผักบุ้งเพราะเคยเห็นร้านที่เวียดนามใช้ จึงมองว่าเป็นแนวคิดที่ดี ผักบุ้งไทย หาง่าย ราคาถูก ลำต้นใหญ่ ตั้งตรง ช่วงแรกมีลูกค้าที่ไม่เข้าใจอยู่บ้าง แต่เมื่ออธิบายถึงการทำความสะอาด ก็ได้ผลดี ภายใน 6 เดือน สามารถยกเลิกการใช้หลอดพลาสติกในร้านได้ทั้งหมด
ร้านนี้มีหลอดทางเลือกหลายชนิด เช่น หลอดแสตนเลส ถูกออกแบบสำหรับดื่มสมูทตี้ ชานมและใช้ในแก้วทรงสูง หลอดแก้วใสเห็นด้านในหลอดชัดเจน แต่ต้องระวังในการพกพา และยังมีหลอดไม้ไผ่ ที่วันนี้ไม่มีเหลือแล้วเพราะขายดีมากจนขาดตลาด
กระแสปฏิวัติพลาสติกแพร่หลายมากขึ้นในหลายหน่วยงานคับข่าวมีของตามมาดูที่โรงอาหารภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 7 จาก 17 โรงอาหาร นำร่องใช้แก้วพลาสติกชีวภาพที่จุฬาฯผลิตร่วมกับเอกชน ตัวแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพที่ทำจากอ้อยและน้ำตาล ส่วนตัวหนังสือที่พิมพ์บนแก้วทำจากถั่วเหลือง ทั้งหมดย่อยสลายได้ภายใน 180 วัน ผู้ดูแลโครงการเล่าว่า จากงานวิจัยพบว่าไม่มีสารตกค้างต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับผลตอบรับดี โดยหากนิสิตไม่นำภาชนะมาใส่น้ำเอง จะต้องจ่ายค่าแก้วน้ำนี้ เพิ่มอีก 2 บาท และมีถังทิ้งเฉพาะ โดยแก้วพลาสติกชีวภาพนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักได้
โครงการลดการใช้พลาสติกในจุฬาฯเริ่มมา 2 ปีแล้ว ที่ทำสำเร็จก่อนหน้านี้ คือ รณรงค์เลิกใช้ถุงพลาสติกตามร้านสะดวกซื้อ ข้อมูลพบว่าแต่ละปีมีขยะถุงพลาสติกจากทุกร้านค้าในจุฬารวมกันกว่า 2 ล้านใบ แต่เมื่อมีการคิดเงินค่าถุงๆละ 2 บาท ปริมาณใช้ลดลงเหลือเพียงปีละหมื่นใบเท่านั้น
ขยะพลาสติก เป็นภัยใกล้ตัว กระทบต่อระบบนิเวศ การตายของวาฬที่สงขลา พบว่า ในท้องมัน มีเศษขยะพลาสติกมากกว่า 80 ชิ้น เต่าทะเล ตายจากพลาสติก ขยะพลาสติกใช้เวลาย่อยสลายนาน 3-4 ร้อยปี ส่วนในไทยถูกจัดเป็นประเทศที่มีขยะในทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก ภาครัฐมีการตั้งเป้าว่าจะต้องลดปริมาณขยะในทะเลลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง ในอีก 9 ปี หลายมาตรการลดการใช้พลาสติก มุ่งหวังให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อปฏิวัติการใช้พลาสติก ในกำมือของเราเอง.-สำนักข่าวไทย