กรุงเทพฯ 26 ก.ค. – รมว.พลังงานระบุมาตรฐานเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยเป็นไปตามสากล พร้อมระดมความช่วยเหลือผู้ประสบภัย สปป.ลาว
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันการสร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยเขื่อนนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง อุบัติภัยที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีปริมาณฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องจนมีผลกระทบต่อเขื่อนดินส่วน D ที่กั้นน้ำระหว่างช่องเขา ขณะนี้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัด ทั้ง บมจ.ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัทในเครือ รวมทั้ง บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี (RATCHT) เร่งระดมความช่วยเหลือในรูปเงินกว่า 10 ล้านบาท พร้อมถุงยังชีพ และพร้อมส่งช่างไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่ทั้งนี้ก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐบาล สปป.ลาวร้องขอ
“หน่วยงานด้านพลังงานพร้อมช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัย ซึ่งขอส่งกำลังใจ ขณะนี้ทราบว่ามีผู้สูญหาย โดยทาง Ratch ซึ่งอยู่พื้นที่รายงานว่าการเตือนภัย อพยพเป็นไปตามแผนมาตรฐานฉุกเฉินสากล แต่ครั้งนี้น้ำฝนมามากจริง ๆ จึงเกิดผลกระทบวงกว้าง” รมว.พลังงาน กล่าว
รมว.พลังงาน กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่เอ็นจีโอมีการวิจารณ์ว่าไทยรับซื้อไฟฟ้า สปป.ลาว และเป็นเหตุให้เกิดการสร้างเขื่อนจำนวนมากนั้น รมว.พลังงาน กล่าวว่า ไม่ขอก้าวล่วงโดยนโยบายของรัฐบาล สปป.ลาว การเป็นแบตเตอรี่แห่งอาเซียน ก็จะช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันทั้งลาวและเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งความร่วมมือตามยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ระหว่างกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม
รมว.พลังงาน กล่าวว่า เท่าที่รับรายงานทางโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย ยังยืนว่าโครงการยังเป็นไปตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะสร้างเสร็จเดือนพฤศจิกายน 2561 และส่งขายตามสัญญาเข้าระบบได้ในกุมภาพันธ์ 2562 อย่างไรก็ตาม หากล่าช้ากระทรวงพลังงานก็ขอยืนยันว่าไม่มีปัญหาต่อความมั่นคงของไทย เพราะสำรองไฟฟ้ายังมีสูงมาก
ทั้งนี้ ตามกรอบข้อตกลง MOU รับซื้อไฟฟ้าไทย- สปป.ลาว ไทยจะซื้อไฟฟ้าจากลาว 9,000 MW ในปี 2579 โดยขณะนี้รัฐบาล สปป.ลาวได้เสนอให้ไทยเร่งพิจารณารับซื้อตามข้อตกลง โดย ขณะนี้มีสัญญารับซื้อแล้ว 5,965 MW จำนวนนี้ผลิตไฟฟ้าแล้ว 3,500 MW ที่เหลืออีก 4 โครงการ 3,400 MW กำลังก่อสร้าง โดยจะเข้าระบบของไทย (COD) ในปี 2562 ได้แก่ โฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี กำลังผลิต 1,220 MW, โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย กำลังผลิต 354 MW และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเงี๊ยบ 1 กำลังผลิต 269 MW รวม 1,843 MW และในปี 2565 มี COD 1 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำเทิน 1 กำลังผลิตประมาณ 520 MW
“ไทยและลาวจะศึกษาร่วมมือซื้อขายไฟฟ้าตามกรอบ MOU แต่จากการที่ไทยมีสำรองไฟฟ้าสูงที่ดูแล้วยังไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่ถึง 5 ปี ก็คงต้องมาดูช่วงเวลาที่เหมาะสม” รมว.พลังงาน กล่าว
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ทาง SK Engineering & Construction Company Limited แห่งเกาหลีเป็นผู้ก่อสร้าง และเป็นผู้ถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 26 Korea Western Power Company Limited สัดส่วนร้อยละ 25 และรัฐบาล สปป.ลาวร้อยละ 24 ส่วน Ratch ถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 25 มีกำลังผลิตไฟฟ้า 410 MW อยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีความคืบหน้าไปแล้วร้อยละ 90 กำหนดการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562. -สำนักข่าวไทย