กรุงเทพฯ 26 ก.ค. – สมอ.โชว์ผลงาน 10 เดือนปีงบ 61 จับสินค้าไม่ได้มาตรฐานออกจากตลาดป้องกันผู้บริโภคได้แล้วกว่า 2,000 ล้านบาท
นายอภิจิณ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) แถลงผลการดำเนินงาน 10 เดือน (ต.ค.60-ก.ค.61) ว่า สมอ.เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรมในท้องตลาดออกจากตลาด เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนว่าซื้อสินค้าแล้วได้สินค้าคุณภาพต่ำ ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาถือเป็นภารกิจสำคัญคุ้มครองผู้บริโภค โดย สมอ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจและอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานมูลค่ารวม 2,067 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์เหล็กมูลค่า 2,015 ล้านบาท รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์ไฟฟ้ามูลค่า 44.9 6 ล้านบาท
ทั้งนี้ สมอ.ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการตรวจติดตามจากเดิมใช้บุคลากรของ สมอ.ออกไปตรวจติดตามเปลี่ยนมาเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตส่งหลักฐานข้อมูลผ่านระบบ E- Surveillance ที่พัฒนาขึ้นมาบนพื้นฐานการรับรองตนเอง (Self Declaration) ทำให้สามารถติดตามผู้ได้รับใบอนุญาตครบร้อยเปอร์เซ็นต์ และได้ยกเลิกบันทึกข้อตกลงการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง สมอ.กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค สํานักงานตํารวจแห่งชาติ เพื่อลดการถูกตรวจสอบบ่อยครั้ง ซึ่งถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ได้รับใบอนุญาตผู้ประกอบการและยังเป็นการยกระดับการให้บริการเป็น สมอ. 4.0
นอกจากนี้ ผลจากการที่ สมอ.เปิดการให้บริการด้วยระบบ iTSI หรือ digital-license ก็ได้ช่วยอำนวยความสะดวกและลดระยะเวลาการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการเร็วยิ่งขึ้น เพราะสามารถยื่นคำขอพร้อมแนบเอกสารต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต บางรายการหากเอกสารถูกต้องครบถ้วน สมอ.จะออกใบอนุญาตให้โดยทันที จากที่ สมอ.กำหนดระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้นภายใน 10 วันทำการ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาต 153 ฉบับ 80 ราย ครอบคลุม 119 มาตรฐาน โดยจะดำเนินการให้ครอบคลุม 173 มาตรฐานภายในเดือนกันยายนนี้
นายอภิจิณ กล่าวว่า สมอ.อยู่ระหว่างแก้ไขพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ. ศ. 2511 ที่จะช่วยยกระดับการดำเนินงานด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมของ สมอ.ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ขณะนี้การแก้ไขอยู่ขั้นตอนรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและเรื่องการนำเข้าจะมีความชัดเจนว่าเรื่องใดอยู่ในความดูแลของ สมอ.หรือกรมศุลกากร และการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานบังคับเป็นวัตถุดิบ เพื่อประกอบเป็นผลิตภัณฑ์อื่นเพื่อผลิตและส่งออกต่างประเทศเปลี่ยนเป็นการแจ้งให้ สมอ.แทน รวมถึงแก้ไขบทลงโทษที่จะไม่มีโทษขั้นต่ำ แต่โทษปรับเพิ่มเป็น 2 ล้านบาท จากเดิมไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นต้น
ด้านการส่งเสริมเอสเอ็มอี ได้จัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.S) เพื่อยกระดับขีดความสามารถเอสเอ็มอี ด้วยมาตรฐานที่เหมาะสมกับตลาดเป้าหมาย โดยประกาศใช้มาตรฐาน มอก.S รวม 20 เรื่อง มีผู้ขอรับรองมาตรฐาน 5 ราย และ สมอ.อยู่ระหว่างพิจารณารับรอง ซึ่ง มอก.S ครอบคลุมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สปา กีฬา และสิ่งทอ และอยู่ระหว่างการกำหนดมาตรฐานเพิ่มอีก 23 เรื่อง ได้แก่ การบริการทำความสะอาด การบริการคาร์แคร์ เป็นต้น และเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการขอใบอนุญาตรายละ 30,000 บาท โดย สมอ.จะประสานขอรับความช่วยเหลือจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เพื่อให้ผู้ประกอบการไม่ต้องมีภาระส่วนนี้ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพารา โดยกำหนด มอก.ที่เกี่ยวข้องกับยางพาราและประกาศใช้แล้ว 163 มาตรฐาน เป็นต้น.- สำนักข่าวไทย