ไบเทค 21 ก.ย. – กระทรวงพาณิชย์ระดมภาคเอกชนธุรกิจโลจิสติกส์ทั้งภูมิภาคอาเซียนและอาเซียนบวก 6 แลกเปลี่ยนนวัตกรรมล่าสุดและสร้างเครือข่ายระหว่างกันในงาน TILOG–LOGISTIX 2016 คาดมีการเจรจาธุรกิจไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงาน “TILOG–LOGISTIX 2016” ที่ไบเทค มั่นใจว่าตลอด 3 วันของการจัดงานตั้งแต่วันที่ 21-23 กันยายนนี้ จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการไทยที่จะยกระดับศักยภาพให้มีความเป็นมืออาชีพแข่งขันได้ในระดับสากลผ่านการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ควบคู่กับการสร้างเครือข่ายธุรกิจ เพื่อปรับบทบาทของประเทศไทยให้ชัดเจนในการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน ภายใน 3 ปีข้างหน้า และคาดว่าจะสร้างมูลค่าการซื้อขายจากการเจรจาการค้าภายในงานช่วงระยะเวลา 1 ปี ซึ่งมีคณะผู้แทนการค้าชั้นนำด้านโลจิสติกส์นานาชาติกว่า 500 ราย จากจีน ไต้หวัน เวียดนาม ฮ่องกง อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นต้น มาร่วมเจรจาธุรกิจ ไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท และมีผู้เข้าชมงานไม่ต่ำกว่า 10,000 ราย
นอกจากนี้ ยังเป็นการเดินหน้าลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ทั้งระบบของประเทศ จากร้อยละ 14 ของจีดีพี เหลือร้อยละ 12 ของจีดีพี ตามยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ไทย โดยต้นทุนโลจิสติกส์ของไทย คิดเป็นร้อยละ 8-10 ของต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งเชื่อว่ายังสามารถลดได้อีก โดยอาจจะนำโมเดลบริษัทโลจิสติกส์ของฮ่องกง ที่สามารถขนส่งสินค้าจากต้นทางไปจนถึงปลายทาง โดยไม่ต้องตรวจสอบในประเทศที่ต้องขนส่งผ่าน เพื่อลดต้นทุนการบริหารจัดการ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ทั้งของไทยและจากภูมิภาคอาเซียน รวมอีก 6 ประเทศ หรืออาเซียน บวก 6 รวมทั้งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มาร่วมจัดแสดงการให้บริการด้านโลจิสติกส์เชิงพาณิชย์แบบครบวงจร ครอบคลุมด้านการขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ การลำเลียง ระบบคลังสินค้า เทคโนโลยีสารสนเทศ และผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องด้านโลจิสติกส์ จากเจ้าของเทคโนโลยี โซลูชั่น นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์สินค้าชั้นนำมากกว่า 415 แบรนด์ จาก 25 ประเทศ มาร่วมแลกเปลี่ยนนวัตกรรมใหม่ ๆ และสร้างพันธมิตรทางการค้าร่วมกัน เพื่อยกระดับวงการโลจิสติกส์ของไทยให้เชื่อมโยงโลจิสติกส์ทั้งภูมิภาคอาเซียน
ขณะเดียวกันภายในงานยังมีการเปิดตัวนวัตกรรมโลจิสติกส์ 4.0 ล่าสุด เช่น หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัจฉริยะว่องไวแม่นยำ ช่วยในการจัดเก็บและขนย้ายสินค้าในพื้นที่ที่แรงงานเข้าถึงยาก เช่น ห้องเย็น คลังเคมีภัณฑ์ รถโฟล์คลิฟท์ไร้คนขับจากยุโรป วิ่งตามพิกัดเลเซอร์ ระบบบริหารคลังสินค้าอัตโนมัติ ซึ่งเป็นระบบการจัดเก็บสินค้ารวดเร็วแม่นยำ เป็นต้น รวมทั้งการประชุมสัมมนาในหัวข้อที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจโลจิสติกส์ รวมถึงยังมีการนำเสนอรายงานวิเคราะห์โลจิสติกส์ไทยและอาเซียน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การจัดการด้านโลจิสติกส์ และแนวโน้มในระดับโลก ไปจนถึงกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ .-สำนักข่าวไทย