กรุงเทพฯ 25 ก.ค. – ธ.ก.ส.หนุน TABCO สร้างช่องทางจำหน่ายสินค้าเกษตร พร้อมร่วมมือกับ ITG เชื่อมโยงจำหน่ายสินค้าผ่าน E-Commerce Platform ตอบโจทย์สังคมเทคโนโลยี 4.0 นำร่องข้าวสาร หมอน ยางพารา กาแฟ ผลิตภัณฑ์ชุดของขวัญจากชุมชน พร้อมสินค้า SMAEs หลากหลายรูปแบบสู่ผู้บริโภคจบทุกกระบวนการเพียงปลายนิ้วสัมผัส ตั้งเป้าจำหน่ายสินค้ากว่า 10,000 ล้านบาท
นายสุรชัย รัศมี ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือทางธุรกิจ ระหว่างนายส่งเสริม ศักดิ์สิทธิ์ ผู้จัดการบริษัท ไทยธุรกิจเกษตร จำกัด (TABCO) กับนายนันท์ เนตรรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด (ITG) เพื่อนำสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ SMAEs ตลอดทั้งสินค้าจากชุมชนไปจำหน่ายผ่านช่องทาง E-Commerce Platform เพิ่มความสะดวกผู้บริโภคและเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้เกษตรกร
นายสุรชัย กล่าวว่า ITG แจ้งว่าระบบอี-คอมเมิร์ซที่ลงนามวันนี้จะเริ่มใช้ซื้อขายประมาณเดือนพฤศจิกายนปีนี้ นับเป็นการเชื่อมโยงตลาดสินค้าเกษตรไปยังผู้บริโภค เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในยุคเทคโนโลยี 4.0 และถือเป็นความร่วมมือทางธุรกิจที่อำนวยความสะดวกและก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาด รองรับการแข่งขัน ช่วยสร้างความมั่นคงในเรื่องรายได้ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกร การเชื่อมโยงตลาดสินค้าเกษตรผ่านอี-คอมเมิร์ซ นับเป็นการใช้เทคโนโลยีสร้างโอกาสและช่องทาง ให้เกษตรกรได้ขายสินค้าในราคาที่เป็นธรรม นำสินค้าคุณภาพซึ่งเป็นที่นิยมและเป็นสินค้าจากเกษตรผู้ผลิตโดยตรงออกสู่ตลาดต่อไป
นายส่งเสริม กล่าวว่า TABCO มีเป้าหมายจำหน่ายสินค้า คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งการจำหน่ายสินค้าผ่านระบบอี-คอมเมิร์ซถือเป็นอีกช่องทางสำคัญในการสนับสนุนให้มีการกระจายสินค้าจากเกษตรกรผู้ผลิตส่งตรงไปยังผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วทันต่อความต้องการเพียงปลายนิ้วสัมผัสช่วยการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร
ทั้งนี้ TABCO เป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดยสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ มีความพร้อมที่จะนำผลผลิตทางการเกษตร อาทิ ข้าว A-rice หมอนยางพารา กาแฟ ผลิตภัณฑ์ชุดของขวัญ และผลิตภัณฑ์จากชุมชน อีกกว่า 200 รายการ มาจัดจำหน่ายผ่านระบบอี-คอมเมิร์ซ โดยจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการรวบรวมผลผลิตรวมถึงสินค้าจากชุมชน เกษตรกร สถาบันเกษตรกร เพื่อรองรับระบบการสั่งซื้อสินค้ากับ ITG
นายนันท์ กล่าวว่า ITG ร่วมสนับสนุนด้านการตลาดให้กับสินค้าเกษตร รวมถึงผลิตภัณฑ์ SMAEs จากเกษตรกรและชุมชน ไปยังผู้ซื้อ โดยผ่านระบบ E-Commerce Platform ของบริษัท ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ E-Order โดยเป็นช่องทางในการเชื่อมต่อกับ On-line Market หรือ Social Media ต่าง ๆ รวมถึงเป็นช่องทางจัดจำหน่ายผ่าน Supply Chain ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย E-Payment โดยเชื่อมต่อด้านการเงินกับธนาคารในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจ่ายชำระค่าสินค้าและบริการ การแจ้งหนี้ การเรียกเก็บ และ E-Logistics คือ การบริหารคำสั่งซื้อกับระบบงานด้านขนส่งแบบ เพื่อให้บริการมีความรวดเร็ว สะดวก รวมถึงสามารถติดตามตรวจสอบสถานะการขนส่งและการเชื่อมโยงกับระบบเก็บเงินปลายทาง ทั้งการโอนเงินและส่งคืนเงิน ในกรณีที่ผู้ซื้อใช้บริการเรียกเก็บเงิน ณ จุดนำจ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาระบบการจำหน่ายสินค้าที่ทันสมัยและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี.-สำนักข่าวไทย