สสส.24 ก.ค.–อย.แจงควบคุมไขมันทรานส์ แจ้งผู้ประกอบการรู้ล่วงหน้า ตั้งแต่ปี59 แต่ไม่สามารถแสดงฉลากการันตีปราศจาก 0% ได้อาจเข้าข่ายแสดงฉลากเท็จ ส่วนการอ้างขึ้นราคาเพราะเปลี่ยนวัตถุดิบทำไม่ได้เช่นกัน
ในการแถลงข่าวความจริงเรื่องไขมันทรานส์ น.ส.สุภัทรา บุญเสริม ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนทั้งตระหนักและตระหนกเกี่ยวกับสถานการณ์ไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์อาหาร แต่อยากให้มีความเข้าใจว่าทาง อย. ได้มีการแจ้งผู้ประกอบการที่ผลิตน้ำมัน และไขมันที่เป็นส่วนประกอบของกระบวนการผลิตอาหารให้มีการปรับสูตร โดยไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโครเจนบางส่วนแล้ว ตั้งแต่ ปี 2559 ทำให้กระบวนการอุตสาหกรรมมีการปรับตัวไมใช่เพิ่งแจ้ง โดยประเทศมีผู้ประกอบการผลิตน้ำมันแค่ 3 รายเท่านั้น จึงเชื่อว่าในปัจจุบันแทบไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ไขมันทรานส์ปริมาณสูงหลงเหลือ โดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือ จำหน่าย น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ จะมีผลบังคับลใช้ 9 มกราคม 2562
น.ส.สุภัทรา กล่าวต่อว่า ความเข้าใจของประชาชนเรื่องไขมันทรานส์ที่ถูกต้องยังมีอยู่น้อย โดยธรรมชาติของกระบวนการผลิตอาหาร สามารถเกิดไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นไขมันทรานส์ตามธรรมชาติแต่น้อยมาก ส่วนใหญ่เกิดจากระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม ดังนั้นการที่ผลิตภัณฑ์อาหารที่ ฉวยโอกาสโอกาสเรื่องประกาศ ไขมันทรานส์ ออกมาการันตีผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ติดฉลากปราศจากไขมันทรานส์หรือไขมันทรานส์เป็น 0เลยนั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะขณะนี้ยังเป็นเรื่องการขอความร่วมมือ และหากตรวจพบว่า มีไขมันทรานส์ในปริมาณที่สูงเกินกำหนดต่อหน่วยบริโภคที่กำหนดไว้ ห้ามเกิน ร้อยละ1 หรือ ไม่ควรเกิน 2 กรัม จะเท่ากับหลอกลวงผู้บริโภค เข้าข่ายแสดงฉลากเป็นเท็จ
ส่วนการออกมาประกาศขึ้นราคาผลิตภัณฑ์อาหาร เนื่องจากการปรับสูตรผลิตและใช้วัตถุดิบอื่นแทนนั้น เรื่องนี้ทางอย.ได้มีการชี้แจงผู้ผลิตมาตั้งแต่ปี 2559 จึงทำให้ผู้ประกอบการมีการเตรียมตัวมาล่วงหน้าแล้ว เชื่อว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อราคา
รศ.วันทนีย์ เกรียงสินยศ อาจารย์สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สิ่งที่น่ากลัวกว่าไขมันทรานส์ คือไขมันอิ่มตัว ที่มาจากกระบวน การทอดน้ำมันท่วม โดยคนไทยมีอัตราการบริโภคมากกว่า ไขมันทรานส์แบ่งเป็นไขมันทรานส์ตามธรรมชาติที่เกิดจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง ซึ่งมีปริมาณน้อยมาก ในขณะที่ไขมันทรานส์จากกระบวนการเติมไฮโดรเจน มีในกลุ่มขนมอบ เบเกอรี่ อาหารทอดแบบน้ำท่วม ซึ่งความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดไม่ได้เกิดจากไขมันทรานส์เท่านั้น แต่ยังเกิดการจากบริโภคไขมันอิ่นตัวด้วย โดยอัตราการบริโภค ของไขมันทรานส์ต่อวัน ไม่ควรเกิน 2 กรัม ไขมันไม่อิ่มตัว ไม่ควรเกิน 20 กรัม .-สำนักข่าวไทย