รัฐสภา 20 ก.ค.-กก.ยกร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เขียนบทเฉพาะกาลให้ผู้บังคับบัญชาเรียกลูกน้องที่ไปอารักขานักการเมืองอย่างไม่เป็นทางการกลับ และให้เข้าระบบ เตรียมกำหนดให้ ก.ตร.กำหนดหลักเกณฑ์ว่าใครมีสิทธิขอตำรวจอารักขาบ้าง และคนที่ขอต้องไม่มีคดี
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเรื่องภารกิจอารักขาบุคคลสำคัญของตำรวจ ซึ่งปกติเป็นอำนาจความรับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ที่ส่วนใหญ่อารักขาบุคคลที่ดำรงตำแหน่งสำคัญอยู่ในปัจจุบัน โดยเป็นการกระทำอย่างเป็นทางการ ซึ่งคณะกรรมการฯ ไม่ได้มีปัญหาในส่วนนี้ แต่ในกรณีที่มีการไปติดตามบุคคลบางประเภทอย่างไม่เป็นทางการ อาทิ อดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือบุคคลผู้กว้างขวาง ดังนั้นในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาตินี้จึงได้มีการกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลให้ผู้บังคับบัญชา ซึ่งทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาของตนไปอารักขาบุคคลอื่นอย่างไม่เป็นทางการ จะต้องเรียกตัวกลับมา
นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กำลังหารือกันว่าการอารักขาบุคคลสำคัญที่เป็นอดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง น่าจะมีการเขียนในบทเฉพาะกาลไว้ด้วยว่าให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ออกกฎเกณฑ์ว่าควรต้องเป็นบุคคลประเภทใดบ้างที่สามารถจะขอให้นายตำรวจไปทำหน้าที่อารักขาได้อย่างเป็นทางการ เช่น อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรี อดีตประธานสภาฯ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ หารือกันในเบื้องต้นด้วยว่าบุคคลที่จะขอตำรวจไปอารักขา จะต้องเป็นบุคคลที่ไม่ต้องคดี
“เรื่องการไปอารักขาทางการ ไม่เป็นปัญหา จากนี้ไปถ้า พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติมีผลใช้บังคับ ผู้บังคับบัญชาถ้าทราบว่าลูกน้องตัวเองไปอารักขาใครอย่างไม่เป็นทางการ จะต้องเรียกตัวกลับมาหมด ถ้าไม่เรียกกลับ ถือว่าผู้บังคับบัญชาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และถ้าจะไปอารักขาต้องไปอย่างเป็นทางการ และเราจะเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลให้ ก.ตร.กำหนดว่าบุคคลประเภทไหนที่ขอการอารักขาได้บ้าง และกำลังหารือว่าจะต้องไม่ใช่คนที่มีคดี เพราะเรายอมรับว่างานอารักขาบุคคลสำคัญยังจำเป็น” นายคำนูณ กล่าว
นายคำนุณ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีกรณีขอตัวไปช่วยราชการ ซึ่งมีข้าราชการตำรวจที่ไปช่วยราชการยังหน่วยราชการภายนอก เช่น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กว่า 200 อัตรา แต่เมื่อเชิญ กอ.รมน.มาชี้แจง พบว่าไปช่วยจริงเพียง 5 อัตราเท่านั้น จึงจะเขียนป้องกันตรงนี้เอาไว้ด้วย.-สำนักข่าวไทย