กรุงเทพฯ 20 ก.ค. – กรมปศุสัตว์ยืนยันการเลี้ยงไก่เนื้อไทยมีการเฝ้าระวังยาปฏิชีวนะและสารตกค้าง ตั้งเป้า 5 ปี ลดใช้ยาปฏิชีวนะร้อยละ 30
วันนี้ (20 ก.ค.) มีการประชุมคณะทำงานกำหนดแนวทางหลักเกณฑ์การจัดทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปลอดยาปฏิชีวินะ ครั้งที่ 2 โดยมีนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธาน มีผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทั้งไก่และสุกรที่ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เลี้ยงสัตว์แบบปลอดยาปฏิชีวนะมาร่วมรับฟังนโยบายและให้ข้อคิดเห็น
นายสัตวแพทย์สมชวน กล่าวว่า การเลี้ยงไก่เนื้อของไทยมีมาตรฐานที่ต่างประเทศยอมรับ ไทยส่งออกไก่เนื้อมากเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยเลี้ยงระบบปิดได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มจากกรมปศุสัตว์เกือบทั้งหมด ส่งออกไปตะวันออกกลาง สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศร้อยละ 70 และบริโภคในประเทศร้อยละ 30 เลี้ยงทั้งเพื่อส่งออกและบริโภคในประเทศเป็นแหล่งเดียวกันมาตรฐานเหมือนกันในไทยมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฟาร์มไก่รายใหญ่ 23 ราย ซึ่งจะมีลูกฟาร์มเป็นระบบพันธสัญญา (Contact Farming) ซึ่งจะต้องมีสัตวแพทย์ดูแลเรื่องการใช้ยาต่าง ๆ หากละเลยจะมีโทษตามกฎหมายถึงขั้นถอนใบประกอบวิชาชีพ
สำหรับไก่เนื้อยังมีความจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะบ้าง แต่ฟาร์มส่วนใหญ่ลดหรือเลิกใช้แล้ว เนื่องจากไก่เนื้อมีช่วงการเลี้ยงสั้นเพียง 45 วัน หากต้องใช้ยาปฏิชีวนะก็มีข้อกำหนดเว้นระยะก่อนนำเข้าโรงฆ่า เพื่อให้ไก่ขับยาปฏิชีวนะออกก่อน อีกทั้งมีข้อกำหนดเป็นสากลว่าสามารถพบยาปฏิชีวนะในเนื้อไก่ได้ในปริมาณน้อยมากแตกต่างกันขึ้นกับชนิดของยา
ส่วนมาตรการเฝ้าระวังระยะยาว กรมปศุสัตว์ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการ “การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย พ.ศ.2560–2564” เพื่อป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและกำกับดูแลการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม โดยมีเป้าหมายลดให้ได้ร้อยละ 30 ใน 5 ปี ขณะเดียวกันร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสัตว์ ภาคเอกชน และเกษตรกร ส่งเสริม สนับสนุน แนะนำให้จัดทำระบบการเลี้ยงที่สามารถป้องกันโรคได้ เพื่อให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจและลดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การทำฟาร์มปลอดยาปฏิชีวนะให้ได้ในอนาคต.-สำนักข่าวไทย