กรุงเทพฯ 20 ก.ค. – ธนาคารออมสินแจงปัญหาหนี้สินครู ยืนยันคิดดอกเบี้ยต่ำสุด ทั้งยังมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ที่ยืดหยุ่น ช่วยเหลือแก้ไขหนี้ตลอดกว่า 12 ปี และยินดีช่วยแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนใด
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยถึงกรณีเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูรวมตัวประมาณ 100 คน เรียกร้องให้รัฐบาลและธนาคารออมสินพักหนี้โครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา ( ช.พ.ค.) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป พร้อมชักชวนลูกหนี้ ช.พ.ค. ทั่วประเทศร่วมกันยุติการชำระหนี้กับธนาคารออมสิน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 ว่า ปัจจุบันธนาคารออมสินคิดดอกเบี้ยโครงการ ช.พ.ค.ต่ำมากเพียงร้อยละ 5-6 ต่อปี (ตามข้อตกลงใหม่) ขณะที่สินเชื่อบุคคลทั่วไปในระบบสถาบันการเงินที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 – 28 ต่อปี อีกทั้งระยะเวลาผ่อนชำระนานถึง 30 ปี ซึ่งคิดดอกเบี้ยลดต้นลดดอกเช่นเดียวกับสินเชื่อเคหะที่มีเงินงวดผ่อนชำระต่ำ ทำให้สามารถกู้เงินจำนวนที่สูงขึ้นได้ แล้วแต่ความจำเป็นของครู แต่ถ้าสามารถผ่อนชำระเงินกู้มากกว่าเงินงวดตามเงื่อนไข หรือนำเงินมาสมทบชำระหนี้ เพื่อให้ชำระหนี้หมดเร็วกว่าที่กำหนดไว้จะทำให้จ่ายดอกเบี้ยลดลง
นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการธนาคารออมสินมีการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครูมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับผู้ที่มีปัญหาในการผ่อนชำระหรือชำระไม่ไหวด้วยการส่งหนังสือเชิญชวนให้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้เงื่อนไขพิเศษ 3 แนวทาง คือ 1.กรณีรายได้คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายมากกว่าร้อยละ 30 ของรายได้ สามารถพักชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และชำระดอกเบี้ยปกติ ร้อยละ 100 2.กรณีรายได้คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายตั้งแต่ร้อยละ 15-30 ของรายได้ สามารถพักชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และชำระดอกเบี้ยปกติไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และ 3.กรณีรายได้คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายน้อยกว่าร้อยละ 15 ของรายได้ สามารถพักชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และชำระดอกเบี้ยปกติไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 เพื่อให้ผู้กู้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขเดิมกลับมาเป็นหนี้ปกติที่ได้รับอัตราดอกเบี้ยต่ำตามเดิมได้ นับว่าเป็นมาตรการที่ยืดหยุ่นอย่างมาก เช่น วงเงินกู้ 1 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี ปกติผ่อนชำระ 6,200 บาทต่อเดือน (เงินต้น+ดอกเบี้ย) หากผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยร้อยละ 25 – 100 เงินชำระต่อเดือนลดลง (ปัจจุบันมีผู้กู้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้กว่า 40,000 ราย)
ส่วนกรณีการทำประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อนั้น ไม่ได้บังคับ และปรากฏว่ามีครูผู้กู้เลือกทำประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 85 ของจำนวนผู้กู้ทั้งหมด โดยในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา มีครูเสียชีวิตประมาณ 15,900 คน ครูที่ทำประกันประมาณ 10,800 คน รวมทุนประกันประมาณ 13,000 ล้านบาท ซึ่งครูจะมีหนี้ประมาณ 1 ล้านบาทต่อราย เมื่อเสียชีวิตจะนำเงิน ช.พ.ค. 700,000 บาทต่อรายมาชำระหนี้ปิดบัญชี และจะมีเงินเหลือคืนทายาทรวมประมาณ 9,000 ล้านบาท และนี่คือประโยชน์ของการทำประกันอย่างแท้จริง ทำให้ทายาทและผู้ค้ำประกันไม่เดือดร้อน
“ยอดสินเชื่อโครงการ ช.พ.ค. ล่าสุดมีผู้กู้รวมประมาณ 433,000 ราย คิดเป็นวงเงินกู้ประมาณ 406,000 ล้านบาท โดยมี NPLs ประมาณ 4,079 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.94 ของลูกหนี้ทั้งหมดเท่านั้น ธนาคารอยากให้ครูที่มีปัญหาการผ่อนชำระ ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนใด ขอให้เข้ามาแจ้งความประสงค์ เพราะธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือครูที่ยืดหยุ่นผ่อนคลาย อยากให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีวินัยทางการเงิน เพราะครูต้องทำหน้าที่ให้ความรู้ สร้างคนให้เป็นคนดีมีความรู้มีวินัยให้แก่ประเทศชาติต่อไป” นายชาติชาย กล่าว
สำหรับโครงการ ช.พ.ค.เกิดจากกระทรวงศึกษาธิการและธนาคารออมสินร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้วยการรวมหนี้สินของครูจากหลายแหล่งทั้งในระบบและนอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงมากู้ที่ธนาคารออมสินเพียงแห่งเดียว โดยปี 2548 มีการจัดหาสวัสดิการด้านสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ และทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับธนาคารออมสิน เพื่อดำเนินโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. – ช.พ.ส. รวม 7 โครงการ ด้วยการนำเงิน ช.พ.ค.และการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณี คู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) มาค้ำประกัน และ/หรือบุคคลค้ำประกัน หรือทำประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อ.-สำนักข่าวไทย