กรุงเทพฯ 15 ธ.ค. – คณะกรรมการ PPP เห็นชอบหลักการโครงการจัดให้เช่าที่ราชพัสดุบริเวณถนนสุขุมวิท ตำบลบางพระและตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นโรงกลั่นน้ำมันต่อเนื่อง ภายหลังสัญญาเช่าเดิมสิ้นสุดอีกเป็นระยะเวลา 30 ปี วงเงินลงทุนพัฒนาเพิ่มกว่า 120,000 ล้านบาท
คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ในการประชุมครั้งที่ 6/2559 โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีผลการประชุมสรุปดังนี้ เห็นชอบหลักการโครงการจัดให้เช่าที่ราชพัสดุบริเวณถนนสุขุมวิท ตำบลบางพระและตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556) เป็นโรงกลั่นน้ำมันต่อเนื่องภายหลังสัญญาเช่าเดิมสิ้นสุดอีกเป็นระยะเวลา 30 ปี คาดว่าจะมีวงเงินลงทุนพัฒนาเพิ่มกว่า 120,000 ล้านบาท และจะช่วยเสริมความมั่นคงทางด้านพลังงาน สร้างรายได้และกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ และมอบหมายให้กรมธนารักษ์ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการให้เช่าที่ราชพัสดุตามขั้นตอนของ พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 และกฎระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้เช่าที่ราชพัสดุ และการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในที่ราชพัสดุ เช่น การจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและดูแลชุมชนโดยรอบที่ราชพัสดุโดยเคร่งครัดต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบผลการติดตามความคืบหน้าของ 5 โครงการที่ดำเนินการตามมาตรการ PPP Fast Track ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย – มีนบุรี) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว – สำโรง) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ในการเจรจาต่อรองกับผู้ยื่นข้อเสนอที่ให้ NPV ของผลประโยชน์ตอบแทนสูงที่สุด โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการส่วนต่อขยาย และคณะกรรมการกำกับดูแลของโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (ช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ) เพื่อให้ได้ข้อยุติตามกำหนดเวลาที่ได้ขยายออกไปถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2559
โครงการ Motorway สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M6) คณะกรรมการ PPP ได้รับทราบความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีที่มีความเห็นว่า กรมทางหลวงอาจมอบหมายให้เอกชนร่วมลงทุนในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ของโครงการดังกล่าวตาม พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 จึงเห็นควรให้กรมทางหลวงเร่งรัดดำเนินการเสนอโครงการ M6 และ M81 ต่อคณะกรรมการ PPP โดยเร็ว เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนงานที่กำหนดต่อไป
นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP ได้รับทราบฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานทางการเงินของกองทุนส่งเสริมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (กองทุน PPP) ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการกองทุน PPP ได้จัดสรรเงินให้กรมการขนส่งทางบก เพื่อจัดทำผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ตาม พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556.-สำนักข่าวไทย