กทม. 11 ก.ค.-“น.อ.อนันท์” เล่าภารกิจสุดหินของหน่วยซีล จากชาวทะเล เมื่อต้องปฏิบัติภารกิจในถ้ำหลวงค้นหา 13 ชีวิตทีมหมูป่า ไม่ง่ายอย่างที่คิด
น.อ.อนันท์ สุราวรรณ์ ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ เล่าการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยซีลในถ้ำหลวง กล่าวว่า ผมเข้าพื้นที่ตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ ถึงพื้นที่บริเวณหน้าถ้ำหลวง เวลา 02.45 น. หลังฟังบรรยายหน้าถ้ำ ได้เข้าไปในถ้ำเวลา 04.00 น. พวกเราเป็นชาวทะเล จากการฟังบรรยายสรุป ก็นึกภาพไม่ออกว่าสถานที่เกิดเหตุจะเป็นอย่างไร ถ้ำก็น่าจะมีแสงสว่างให้เราพอทำงานได้บ้าง หลังจากฟังบรรยายสรุปเสร็จก็มั่นใจว่าภารกิจนี้ไม่น่ายาก เพราะเรารู้แล้วว่าเด็กไปทางไหน แต่ก้าวแรกที่ก้าวเข้าไปในถ้ำ “รู้แล้วว่าไม่ใช่งานง่ายละ” ในถ้ำมืดสนิท เส้นทางจากปากถ้ำไปยังสามแยกที่คาดว่าเด็กๆ จะเข้าไปเกือบ 3 กม. อาจจะต้องปีนโขดหินที่คล้ายๆ หน้าผา บางช่วงก็ลอดรูเล็กๆ เข้าไป
วันแรกเราไปถึง 3 แยกประมาณตี 5 ครึ่ง เราเริ่มดำน้ำ 7 โมงเช้า สามารถทะลุไปอีกฝั่งหนึ่งที่คิดว่าเด็กๆ จะไปถึงประมาณระยะหนึ่ง ตลอดเส้นทางสังเกตว่าผนังถ้ำเป็นโคลนหนา ประมาณได้เลยว่าถ้ำนี้เคยมีน้ำท้วม พัดโคลนมาเต็มถ้ำ ขณะที่เราทำงานอยู่ 3 แยก น้ำจะไหลมาจากเส้นทางบ้านผาหมี เวลาตี 5 ถึง 4 โมงเย็น เราทำงานจนลืมเวลา แต่ก็สังเกตน้ำอยู่เรื่อยๆ ว่าน้ำขึ้นตลอดเวลา 4 โมงครึ่ง น้ำขึ้นเร็วมาก จากชั่วโมงละ 3 เซนติเมตร เป็นชั่วโมงละ 8 เซนติเมตร, 13 เซนติเมตร ประมาณสถานการณ์แล้วว่าน่าจะเกิดอันตรายเพราะฝนตกตลอด ไม่รู้ว่าน้ำจะหลากเข้ามาในถ้ำเมื่อไหร่ เราต้องรีบถอนตัว ก็ได้เสนอผู้ว่าฯ ถ้าเราจะทำงานได้ ต้องสูบน้ำ เพราะเรานึกภาพว่าน้ำเต็มท่อ 3 กิโลเมตร, 4 กิโลเมตร เราไม่รู้ว่าจะมีโพรงโผล่หายใจได้หรือไม่ ผู้ว่าก็ระดมสรรพกำลังสูบน้ำ แต่การสูบน้ำก็ลดน้อยมาก ซึ่งเราไม่สามารถรอเวลาได้ เพราะเวลาล่วงเลยมามากแล้ว จำเป็นต้องเดินหน้าต่อ
ในช่วงที่รอน้ำลด ทีมงานของเราก็ทำการดำน้ำเพื่อวางไกด์ไลน์ไปเรื่อยจากโถง 3 ถึง 3 แยก เราก็สามารถวางเบสไลน์ถึง 3 แยกได้ โดยที่เราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่น้ำจะลด ซึ่งก็เป็นที่ว่ามาเราต้องขอรับการสนับสนุนขวดอากาศอีกหลาย 100 ขวด ในช่วงสูบน้ำไปเรื่อยๆ เราก็วางเบสไลน์ไปเรื่อยๆ จนถึงชุดสุดท้ายของนักดำอังกฤษที่เข้าไปถึงตรงที่เด็กๆ อยู่
นักดำอังกฤษออกจากโถง 3 ไปจนพบเด็กแล้วกลับมาบอกว่า พบเด็กๆ แล้ว ใช้เวลาในการดำน้ำ 5 ชั่วโมงครึ่ง พวกเราก็โอเค นักดำต่างชาติดำถึงแล้ว วางไกด์ไลน์เรียบร้อยแล้ว เราก็ประเมินว่าน่าจะไม่เกิน 500-700 เมตร เราประเมินแล้วว่าเราน่าจะไปได้ ทีมงานเราจึงเตรียมเสบียง น้ำ อาหารเจลพลังงาน แผ่นฟอยล์ที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น โดยส่งทีมแรกไปเป็นซีลทั้งหมด จำเวลาไม่ได้ เพราะเราทำงานแบบไม่รู้วัน เราจะดูแค่ว่าอีกกี่ชั่วโมงเราจะออก นักดำน้ำที่เราส่งเข้าไปจะกลับ เราส่งนักดำน้ำไปโดยคัดคนที่คิดว่าเจ๋งที่สุดแล้ว 4 คนออกไป ชั่วโมงต่อไปก็ส่งไปอีก 3 คน ในนั้นมีหมอภาคย์ด้วย 1 คน เพื่อให้ไปดูแลเด็กๆ
“เชื่อมั้ยว่า 2 ทีมที่ส่งไป ขาดการติดต่อไป 23 ชั่วโมง นี่คือความเครียดของผู้ปฏิบัติที่ส่งลูกน้องออกไปทำงานแล้วไม่รู้ว่าเป็นหรือตาย” เพราะเราประเมินแล้วต่างชาติดำ 5 ชั่วโมงครึ่ง ศักยภาพเราอย่างมากก็อาจเป็น 7 ชั่วโมง 8 ชั่วโมง ต้องกลับ แต่ 8 ชั่วโมงก็แล้ว 10 ชั่วโมงก็แล้ว 20 ชั่วโมง จน 23 ชั่วโมงผ่านไป ชุดซีลชุดแรกจึงกลับมาที่โถง 3 กลับมาก็กลับมาแค่ 3 คน เพราะที่เหลือที่ดำเข้าไปโดยใช้ขวดอากาศคนละ 4 ถัง ดำเกือบหมดทุกคน มี 3 คนที่พอจะมีอากาศเหลือดำกลับมาที่โถง 3 เพื่อรายงานข่าว ก็เป็นเหตการณ์ที่ผู้รับผิดชอบตรงหน้างานเครียดตลอดเวลา
เพราะว่าความยากของงานนี้ก็คือ 1.ความมืด 2.เป็นงานใหม่ที่เราไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน 3.ความเย็นของน้ำในถ้ำ 4.เราไม่รู้ว่าน้ำจะมาอีกเมื่อไหร่ ปัจจัยต่างๆ คือความเสี่ยงที่เราต้องคิดอยู่ตลอดเวลา แต่เรามีทีมนักฟุตบอลอยู่ 13 ชีวิตที่รอคอยเราอยู่ เราทิ้งไม่ได้ โดย 3 คนที่กลับมาต้องเข้าโรงพยาบาลทั้งหมด เพราะสภาพร่างกายแย่มาก เมื่อเราเจอสถานการณ์แบบนี้เราต้องคิดใหม่แล้วว่าเราจะเดินต่อไปอย่างไร
ทุกครั้งที่ผู้บังคับบัญชามาให้กำลังใจ ทุกครั้งที่มีรายงานจากข้างนอกถ้ำว่าเดินสำรวจบนเขาแล้วไม่มีช่อง ไม่มีรูที่จะเข้าไปหาน้องๆ ได้ ความหวังที่เป็นไปได้มากที่สุดแม้ว่าจะมีโอกาสน้อยก็คือทางน้ำเท่านั้น ก็เป็นแรงกดดันที่เราจะต้องเดินต่อ เราก็มาปรับแผนใหม่ว่าถ้าจะดำไปหาเด็กๆ ได้ก็ต้องวางขวดอากาศเป็นระยะ เป็นที่มาว่าเราระดมขวดมา แล้วก็จัดทีมออกไปวางขวดอากาศ
ทุกครั้งที่ส่งลูกน้องออกไปทำงาน 10 ชั่วโมงก็มี 7 ชั่วโมงก็มี 3 ชั่วโมงบ้าง กว่าเขาจะกลับมาให้เราเห็นว่าเขายังมีชีวิตอยู่ นี่คือความยากของมัน จนวันที่มีเหตุการณ์ที่พวกเราก็ทราบว่า “จ่าแซม” ในคืนวันนั้นท่านก็รับอาสาไปวางขวดอากาศร่วมกับทีมนักดำน้ำต่างชาติ ท่านออกไปกับทีมต่างชาติ 4 คน คนไทย 2 คน โดย 1 ในนั้นคือ “จ่าแซม” ซึ่งต่างชาติไปวางขวดอากาศกลับมาใช้เวลา 3 ชม. ส่วน “จ่าแซม” กับอีกท่าน 5 ชั่วโมงผ่านไป 6 ชั่วโมงผ่านไป 7 ชั่วโมงผ่านไปไม่กลับทั้ง 2 คน แต่ประเมินสถานการณ์เข้าข้างตัวเองว่า ลูกน้องเราอาจจะเหนื่อยแล้วพัก จนประมาณตี 1 คู่บัดดี้ดำกลับมาที่โถง 3 คนเดียว แล้วแจ้งว่าเกิดเหตุไม่ดีขึ้น ก็เป็นคืนที่เราสูญเสีย แต่ว่าสูญเสีย 1 ชีวิตกับอีก 13 ชีวิตที่ยังรอเราอยู่ ก็ต้องเดินหน้าต่อ
ทุกคนยอมรับในความเสี่ยง เพราะหน่วยเราถูกฝึกมาเพื่อรับภารกิจเสี่ยงอยู่แล้ว ในเรื่องความสูญเสียเราก็เตรียมใจอยู่แล้ว สุดท้ายถือว่างานนี้เป็นโอกาสดีของหน่วยงานของผมเองที่ได้ร่วมงานกับนักดำน้ำระดับโลก ทำให้เราได้เห็นวิธีการ แนวทางเทคนิคในการดำน้ำในถ้ำ เพื่อที่เราจะได้พัฒนาขีดความสามารถเพื่อรองรับอุบัติภัยของเราในอนาคต” น.อ.อนันท์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย