สามเสน11ก.ค.-เปิดเวทีถอดบทเรียนการทำข่าวถ้ำหลวงนักวิชาการติงสื่อในการนำเสนอข่าว ด้านผู้บริโภคต้องยืนหยัด เสพข่าวคุณภาพ เน้นความถูกต้อง มากกว่าความเร็ว
สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์กรสื่อ จัดเสวนา ถอดบทเรียนการทำข่าว “ถ้ำหลวง” หลังสื่อไทยนำเสนอข่าวช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเดมี่ชุดแรกออกจากถ้ำหลวง ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์ถึงการทำหน้าที่ของสื่อหลายสำนัก ไร้จรรยาบรรณ ทั้งการดักฟังวิทยุของเจ้าหน้าที่ ,ใช้โดรนบินประกบเฮลิคอปเตอร์ เปิดเผยชื่อหมูป่า ตลอดจนพฤติกรรมนักข่าวที่ไม่เหมะสม
ผศ.วรัชญ์ ครุจิต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า การทำหน้าที่สื่อครั้งนี้ มีความบกพร่อง 5 ข้อ คือขาดความเข้าใจ พฤติกรรมของผู้เสพสื่อ ,ขาดความใส่ใจในจริยธรรม , ขาดความสร้างสรรค์ ไม่ทำข่าวเชิงรุก ,ขาดการยอมรับผิดของสื่อบางสำนัก และขาดการควบคุมกำกับดูแลสื่อ สิ่งเหล่านี้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรทำหน้าที่เชิงรุก มากกว่าการตรวจสอบอยู่หน้าจอ
ด้านนายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ นักวิชาการสื่อสารมวลชน กล่าวว่าเหตุการณ์นี้เป็นภาวะฉุกเฉิน สื่อต้องนำเสนอข้อมูล ที่ผ่านการตรวจสอบ สร้างความน่าเชื่อถือ มากกว่าการแข่งขันที่เน้นเพียงเรตติ้ง ขณะที่ผู้เสพสื่อควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่เสพข่าวดราม่า ไม่เน้นความเร็ว ในสถานการณ์วิกฤตแบบนี้ เชื่อสื่อพร้อมปรับตัว เพื่อนำเสนอข่าวให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย
สำหรับเหตุการณ์นี้ ยังสะท้อน3 โมเดล ที่สื่อไทยควรปรับตัวคือการทำข่าวเฉพาะในพื้นที่โซนนิ่ง เพื่อไม่ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ ,พฤติกรรมผู้เสพสื่อที่รับรู้ข่าวสารผ่านทวิตเตอร์ แบบสั้นกระชับ ได้รับความนิยมมากขึ้นและการทำงานของสื่อต่างชาติที่เน้นรายงานเชิงลึก มากกว่าเหตุเฉพาะหน้า หลังจากนี้ยังต้องจับตา การนำเสนอข่าวทีมหมูป่า ที่สื่อต้องคำนึงถึงสิทธิเด็ก ยึดจริยธรรมเป็นหลัก เพื่อพิสูจน์ ความเป็นมืออาชีพของสื่อไทย.-สำนักข่าวไทย