รร.รามาการ์เดนส์ 27 มิ.ย.-ดีเอสไอร่วมมือกลุ่มประเทศอาเซียน ยกระดับขีดความสามารถรับมืออาชญากรรมไซเบอร์
ผู้แทนจากกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ผู้เชี่ยวชาญในด้านอาชญากรรมไซเบอร์และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย อาทิ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และกำหนดมาตรการ แนวทางการบังคับใช้กฎหมายในกลุ่ม ASEAN Economic Community (AEC) ในการป้องกันอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งกรมสอบสวนสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จัดขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และกำหนดมาตรการ แนวทางการบังคับใช้กฎหมายในกลุ่ม ASEAN Economic Community (AEC) เพื่อพัฒนาทักษะและขีดความสามารถของบุคลากรกรมสอบสวนคดีพิเศษ ด้านการป้องกันและสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมไซเบอร์ และเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศ และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือหากเกิดสถานการณ์จริง และเน้นสร้างการเตือนภัยสร้างการรับรู้เพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชนผู้บริสุทธิ์จากภัยคุกคามที่มองไม่เห็น
ในส่วนของไทย คดีไซเบอร์ส่วนใหญ่ เป็นเรื่องคอลเซ็นเตอร์ ที่หลอกลวงคนไทย สร้างความเสียหายมหาศาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีศูนย์คอลเซ็นเตอร์ในต่างประเทศในหลายประเทศ ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฉ้อโกงประชาชนผ่านระบบโทรศัพท์และสื่ออิเลคทรอนิกส์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 มีการแจ้งข้อมูล รวม 452 คดี ความเสียหายประมาณ 245 ล้านบาท ออกหมายจับแล้ว 547หมาย จับกุมได้ 396 หมาย ซึ่งการแก้ปัญหาได้มีการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศต่อเนื่อง จนสามารถทลายแกงส์คอลเซ็นเตอร์ได้หลายครั้ง แต่ปัญหานี้ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง
ส่วนประเทศฟิลิปินส์ คดีไซเบอร์ส่วนใหญ่เป็นการฉ้อโกงทางอินเทอร์เน็ต เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย ที่คดีไซเบอร์ฉ้อโกงทางอินเทอร์เน็ตก็เกิดมากสุดกว่าร้อยละ50ของคดีไซเบอร์ทั้งหมด
ส่วนออสเตรเลีย คดีไซเบอร์ที่เกิดกับภาครัฐ ส่วนใหญ่คือ Phishing หรือ
การหลอกลวงที่เกิดจากการพยายามหลอกผู้ใช้งาน โดยการสร้างอีเมล์ หรือหน้าเว็บปลอมขึ้นมา เพื่อหวังผลในการให้ผู้ใช้งานเกิดความสับสน และทำธุรกรรมต่างๆบนเว็บไซต์ปลอมที่ถูกสร้างขึ้นนั้น.-สำนักข่าวไทย