สธ.25มิ.ย.- สธ.หารือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูป ถกมาตรการลดเค็มในอาหารสำเร็จรูป ตั้งเป้าภายใน 2 ปี หากตัวเลขโซเดียมไม่ลดลง เล็งออกกฎหมาย จัดเก็บภาษีเกลือ
กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมและหารือกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูป ในการจัดทำเป้าหมายเชิงสมัครใจ เพื่อลดปริมาณโซเดียมในอาหารสำเร็จรูป ซึ่งเป็นไปตามกรอบนโนบายที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ในการขับเคลื่อนงานยุทธศาสตร์ลดเกลือและโซเดียมแห่งชาติ สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก ที่ส่งเสริมให้ทุกประเทศลดการบริโภคเกลือในประชากรให้เหลือ 5 กรัมต่อวัน หรือ 5000 มิลลิกรัมต่อวัน
นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เผยว่า ปัจจุบัน คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สนับสนุนให้ผู้ประกอบการอาหาร ผลิตอาหารที่ลดหวาน มัน เค็ม ติดฉลาก “ทางเลือกสุขภาพ” เพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกในการบริโภคอาหารที่เหมาะสมกับสุขภาพของตนเอง โดยมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองแล้ว 633 ชนิด แบ่งเป็น กลุ่มอาหารมื้อหลัก 10 ชนิด เครื่องปรุงรส 12 ชนิด อาหารกึ่งสำเร็จรูป 22 ชนิด ขนมขบเคี้ยว 30 ชนิด กลุ่มเครื่องดื่ม 458 ชนิด นม 81 ชนิด และไอศกรีม 20 ชนิด ทั้งนี้ อย.ยังได้กำหนดแนวทางในการผลักดัน มาตรการลดโซเดียมในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง ผงหรือก้อนปรุงรส โดยตั้งเป้าในปี 2025 หรืออีก 7 ปี คนไทยลดการกินเค็มได้ร้อยละ 30
ด้าน ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า คณะกรรมการเดินหน้าปรับลดค่าปริมาณโซเดียมในอาหารโรงพยาบาล ลงจากเดิม 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน ให้เหลือเพียง 2,000 กรัมต่อวัน เนื่องจากการได้รับโซเดียมที่สูงมากเกินความต้องการในแต่ละวัน เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งขณะนี้คนไทยป่วยด้วยโรคนี้ถึง 13 ล้านคน ร้อยละ 30 มีสาเหตุมาจากการกินเค็ม หากคนไทยลดพฤติกรรมการกินเค็ม ใส่น้ำปลา หรือเกลือ น้อยกว่า 1 ช้อนชาต่อวัน จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ถึงร้อยละ 10 โดยหลังจากนี้ คณะกรรมการจะติดตามผลกับผู้ประกอบการทุก 6 เดือน ในระยะเวลา 2 ปี หากพบปริมาณโซเดียมไม่ลดลง ก็จะหารือร่วมกับกรมสรรพสามิต ศึกษาแนวทางการการจัดเก็บภาษีเกลือ ออกเป็นมาตรการทางกฎหมาย บังคับใช้กับผู้ประกอบการต่อไป.-สำนักข่าวไทย