เซ็นทรัลเวิลด์ 21 มิ.ย. – บสย.เตรียมเสนอ ครม.คลอดค้ำประกันสินเชื่อ PGS 7 และไมโครเอสเอ็มอีวงเงิน 1.65 แสนล้านบาท หลังฉลองชัย 25 ปี หนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อกว่า 3 แสนราย วงเงินค้ำประกันกว่า 7 แสนล้านบาท สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1.74 ล้านล้านบาท เดินหน้านโยบายพลังประชารัฐ ผนึกแบงก์รัฐลงนาม 2 โครงการค้ำประกันสินเชื่อ “สินเชื่อประชารัฐ” และ “สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในโอกาสครบรอบ 25 ปี บสย.ภายใต้แนวคิด “SUCCESS TOGETHER” หลังจากอนุมัติค้ำประกันสะสม ณ 31 พฤษภาคม 2561 กว่า 700,000 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ 324,000 ราย ผ่านหลายโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ทั้งการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs Transformation Loan การค้ำประกันสินเชื่อแบบ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 1-6 (PGS 1- 6) ที่ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ กระทรวงการคลังพร้อมสนับสนุนบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 7 วงเงิน 150,000 ล้านบาท และการค้ำประกันไมโครเอสเอ็มอี 15,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ กำหนดเงื่อนไขแตกต่างกัน เพื่อเปิดทางให้เอสเอ็มอีที่เคยพึ่งพาเงินนอกระบบได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงเอสเอ็มอีภาคเกษตร ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ เพื่อดูแลทั้งการเงิน ความรู้ เทคโนโลยี ตลาดออนไลน์ บสย.ยังได้ปรับระบบอนุมัติสินเชื่อจาก 3 วัน เหลือเพียง 3 ชั่วโมง ด้วยการเชื่อมข้อมูลผ่านธนาคาร เพื่อความสะดวกในการอนุมัติการค้ำประกัน และมองว่ารายย่อยจะเกิดปัญหาหนี้เสียได้สูงมาก รวมทั้งขยายโอกาสไปยังซัพไพเออร์ ผู้ส่งสินค้าให้กับผู้ส่งออกที่มีหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสในการส่งออกสินค้า
นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการ บสย. กล่าวว่า จากรายงานผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ในช่วงปี 2552 – 2558 งบประมาณของรัฐจัดสรรให้ บสย. นำมาใช้ในการค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุก ๆ 1 บาท ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจสูงกว่า 4.5 เท่าของวงเงินค้ำประกัน ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม รวม 1.74 ล้านล้านบาท และช่วยให้สินเชื่อที่สถาบันการเงินปล่อยให้เอสเอ็มอีเกิดการขยายตัว 1.7 เท่าของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ เกิดการจ้างงาน 3.6 ล้านราย และมีเงินภาษีกลับเข้าสู่รัฐกว่า 225,000 ล้านบาท ในด้านสัดส่วนความคุ้มค่าทางการเงิน หรือ Cost-Benefit Ratio จะมีค่าสัมประสิทธิ์ เท่ากับ 0.009 ซึ่งหมายถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการค้ำประกัน 100 บาท เกิดจากการใช้ต้นทุนรัฐเพียง 90 สตางค์
นายวิเชษฐ์ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บสย. กล่าวว่า โครงการค้ำประกันสินเชื่อแบบ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ (PGS 7) ได้ศึกษาเงื่อนไขร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ( สศค.) วงเงิน 150,000 ล้านบาท แบ่งกลุ่มเอสเอ็มอีด้วยเงื่อนไขแตกต่างกัน ทั้งกลุ่มทั่วไป เอสเอ็มอีเกษตร เอสเอ็มอีรายย่อย ผู้จัดทำบัญชีเล่มเดียว ค้ำประกันสูงสุด 40 ล้านบาทต่อราย กลุ่มเป้าหมายหลายแสนราย เพราะเอสเอ็มอีในระบบ 3 ล้านราย ประกอบด้วย กลุ่ม Small ประมาณ 900,000 ราย กลุ่มขนาดกลาง 45,000 ราย กลุ่มไมโคร 2 ล้านราย สำหรับการรับความเสี่ยงแข่งให้ธนาคารรับภาระหนี้เอ็นพีแอล ร้อยละ 76 ส่วนที่เหลือร้อยละ 24 บสย.รับภาระหนี้เสีย สำหรับค่าธรรมเนียมแบ่งตามความเสี่ยง หากเป็นการจัดทำบัญชีเดียวได้รัยการยกเว้น 1-2 ปีแรก ส่วนโครงกาาค้ำประกันไมโครเอสเอ็มอี ค้ำประกันวงเงิน 2 ล้านบาทต่อราย แบงก์รับภาระหนี้เอ็นพีแอล ร้อยละ 40 ส่วนที่เหลือร้อยละ 60 บสย.รับภาระ เพราะมีความเสี่ยงสูงเพิ่มขึ้น
สำหรับการดำเนินงานของ บสย. มุ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับคู่พันธมิตร ด้วยการร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐ โดยลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 2 โครงการคือ 1. โครงการสินเชื่อประชารัฐ ระหว่าง ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กับ บสย. และ 2.โครงการสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยความร่วมมือระหว่างธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กับ บสย. เพื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ โดยมี บสย.ค้ำประกัน. – สำนักข่าวไทย
ชมคลิป : งานครบรอบ 25 ปี บสย. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และ สัมมนาวิชาการ เรื่อง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จากการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน 21 มิถุนายน 2561 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์