กรุงเทพฯ 8 ธ.ค. – พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เตรียมเสนอบอร์ด กพช.ครั้งหน้า ชี้ขาดโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ยอมรับค่าไฟพุ่งหากใช้ก๊าซแอลเอ็นจีทดแทน บอร์ด กพช.เห็นชอบแผนนำเข้าแอลเอ็นจี-แอลพีจี พร้อมรองรับผลกระทบประมูลปิโตรเลียมล้าช้า-ต้านถ่านหิน
พล.อ.อนันตพร แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันนี้ (8 ธ.ค.) ว่า การดำเนินโยบายพลังงานได้พยายามทำตามแผนที่วางไว้ให้มีพลังงานมั่นคงเพียงพอราคาเหมาะสม โดยกรณีที่มีอดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้เปลี่ยนแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ทั้ง “กระบี่-เทพา” โดยให้เปลี่ยนเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี )เป็นเชื้อเพลิงนั้น เรื่องนี้ไม่ต้องมีใครเสนอทางกระทรวงฯ ก็ได้เตรียมแผนสำรองไว้แล้วว่าหากประชาชนไม่ยอมรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะทำอย่างไร จะใช้แอลเอ็นจีหรือเชื้อเพลิงอื่น ๆ เพราะต้องยอมรับการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้จะเข้าสู่วิกฤติกำลังผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยจะเสนอผลผลดีผลเสียของโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมทั้งการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่กระบี่ต่อบอร์ด กพช.ในเดือนมกราคม 2560 และให้ชี้ขาดว่าควรจะเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงประเภทใดในพื้นที่ภาคใต้
“เชื้อเพลิงแอลเอ็นจีเมื่อเปรียบเทียบกับถ่านหินสุดท้ายแล้วค่าไฟฟ้าจะสูงกว่า แต่หากคิดเฉพาะต้นทุนโรงไฟฟ้าไม่รวมระบบท่อก๊าซ ต้นทุนก่อสร้างถูกกว่าก็จริง ดังนั้น ก็ต้องดูทั้งหมดรวมทั้งการกระจายเชื้อเพลิงด้วย เพราะไม่เช่นนั้นสัดส่วนการใช้ก๊าซผลิตไฟ้ฟ้าจะเพิ่มขึ้น เป็นความเสี่ยงหรือไม่” พล.อ.อนันตพร กล่าว
พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า จากการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียม “บงกช-เอราวัณ” ล่าช้า ขณะที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินชะลอไป ก็ล้วนกระทบต่อแผนที่ตั้งไว้ กระทรวงพลังงานจึงปรับประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2558 – 2579 (Gas Plan 2015) คาดว่าปี 2579 ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติจะอยู่ที่ 5,062 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการไว้ตามแผน PDP 2015 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4,344 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน การจัดหาก๊าซฯ จากอ่าวไทยลดลง ส่งผลให้ต้องนำเข้าแอลเอ็นจี โดยภายใน 2565 เพิ่มจาก 13.5 เป็น 17.4ล้านตันต่อปี และช่วงปลายแผน คือ ปี 2579 ความต้องการแอลเอ็นจีปรับเพิ่มสูงขึ้นจาก 31 ล้านตันต่อปี เป็นถึง 34 ล้านตันต่อปี
ทั้งนี้ กพช.เห็นชอบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการจัดหา/นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Facilities) โดยให้ ปตท.สร้าง LNG Receiving Terminal แห่งใหม่ จังหวัดระยอง (T-2) จากเดิม 5 ล้านตันต่อปี เป็น 7.5 ล้านตันต่อปี ประมาณการเงินลงทุนรวม 38,500 ล้านบาท และกำหนดส่งก๊าซธรรมชาติภายในปี 2565 , โครงการ Floating Storage and Regasification Unit (FSRU) ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ขนาด 5 ล้านตันต่อปี ลงทุน 24,500 ล้านบาท และกำหนดส่งก๊าซธรรมชาติภายในปี 2567 และโครงการ FSRU ในประเทศเมียนมาร์ ขนาด 3 ล้านตันต่อปี กำหนดส่งก๊าซธรรมชาติภายในปี 2570 โดยมอบให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ศึกษารายละเอียดให้เสร็จภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2560
ที่ประชุม กพช.เห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวระยะยาว (LNG SPA) ระหว่าง ปตท.กับบริษัท PETRONAS LNG LTD. กำหนดส่งมอบปี 2560 – 2561 ปริมาณรวม 1 ล้านตันต่อปี และตั้งแต่ปี 2562 ปริมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี อายุสัญญาประมาณ 15 ปี
ที่ประชุม กพช. รับทราบข้อสรุปการดำเนินงานเพื่อเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ซึ่งดูแลไม่ให้กระทบต่อภาคประชาชน โดยเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาดูแล โดยระยะที่ 1 ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านเริ่มมกราคม 2560 ยังควบคุมราคาโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซฯ แต่จะเปิดเสรีเฉพาะในส่วนการนำเข้า โดยให้ยกเลิกระบบโควตาการนำเข้า และสามารถส่งออกเนื้อก๊าซที่ผลิตในประเทศได้ แต่อยู่ภายใต้การควบคุมของกรมธุรกิจพลังงาน อย่างไรก็ตาม จะปรับราคาหน้าโรงกลั่นจากเดิมเป็นราคาตะวันออกกลาง (ซีพี) ติดลบ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (CP-20$)
ส่วนระยะที่ 2 เปิดเสรีทั้งระบบ : ยกเลิกการควบคุมราคาและปริมาณของทุกแหล่งผลิตและจัดหา รวมถึงยกเลิกการประกาศราคา ณ โรงกลั่นและราคาขายส่ง ณ คลังก๊าซ ภายหลังจาก พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. …. มีผลบังคับใช้.-สำนักข่าวไทย