ก.เกษตรฯ 18 มิ.ย. – ก.เกษตรฯ พร้อมปฏิบัติตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ชี้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นทางเลือกเกษตรกร
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้สารเคมีพาราควอตกำจัดวัชพืชและสารคลอร์ไพริฟอสกำจัดแมลงว่าจะตกค้างในผลผลิตจนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค รวมทั้งตกค้างในดินและน้ำจนเป็นอันตรายสิ่งแวดล้อม ว่า ได้รับรายงานจากกรมวิชาการเกษตรว่าคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานมีมติให้ใช้สารทั้ง 2 ชนิดได้ภายใต้การกำกับดูแลที่ดี ซึ่งจะทำให้เกษตรกรยังมีทางเลือกในการกำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูพืช โดยจะไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาจากผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโซเฟต ซึ่งระบุว่าไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับสารนี้กับโรคพาร์กินสันและโรคเนื้อเน่าหนังเน่า รวมทั้งกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมตรวจไม่พบสารพาราควอตในตัวอย่างน้ำ ดินเกษตรกรรมที่ใช้สารนี้และตะกอนดิน
ปัจจุบันมี 86 ประเทศที่ยังคงใช้พาราควอต และมี 51 ประเทศห้ามใช้สารกำจัดวัชพืชอื่นยังมีประสิทธิภาพทัดเทียม ดังนั้น การใช้สารอื่นทดแทนหรือการใช้แรงงานกำจัดวัชพืชจะเพิ่มต้นทุนแก่เกษตรกรมากและไม่พบการตกค้างในผลผลิตในปริมาณสูง ส่วนสารคลอร์ไพริฟอสยังคงใช้ใน 100 ประเทศ ห้ามใช้ใน 30 ประเทศ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงให้ใช้สารนี้ในอาหาร อีกทั้งไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่ามีผลกระทบต่อสมองทารก
นายกฤษฎา กล่าวย้ำว่า อำนาจการอนุญาตให้ใช้หรือไม่ให้ใช้เป็นของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ไม่ใช่อำนาจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่มีอำนาจและไม่ได้เสนอชื่ออนุกรรมการเฉพาะกิจฯ พิจารณาการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโซเฟต ดังนั้น การใช้สารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสจึงเป็นทางเลือกของเกษตรกรที่จะใช้กำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูได้ต่อไปภายใต้การกำกับดูแลที่ดีตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย.-สำนักข่าวไทย