สำนักข่าวไทย 6 มิ.ย.-สำนักงานดูแลผู้อพยพและผู้ลี้ภัยแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หรือ BAMF กำลังพิจารณาการยื่นขอลี้ภัยของอดีตพระพรหมเมธี ส่วนเรื่องส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ข้อมูลของกองการต่างประเทศ พบว่าไทยกับเยอรมนีไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน มีเพียงสนธิสัญญาโอนตัวนักโทษเท่านั้น
สิทธิของอดีตพระพรหมเมธี จะได้รับความคุ้มครองตามกฎเกณฑ์ว่าด้วยการลี้ภัย โดยได้รับความคุ้มครองดูเเลเช่นเดียวบุคคลที่ยื่นคำขอลี้ภัยทั่วไป โดยจะไม่ถูกควบคุมตัว และในช่วง 3 เดือนแรกจะถูกจำกัดเขตพื้นที่ในการเดินทาง ห้ามเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าหน่วยงานที่รับเรื่องดูแลผู้ลี้ภัยนั้นอยู่ในเขตพื้นที่ใด แต่ภายหลังจาก 3 เดือนแล้ว พระพรหมเมธีจะสามารถเดินทางไปได้ทั่วประเทศเยอรมนี และในระหว่างพิจารณาคำขอลี้ภัยนี้ ทางการของเยอรมนีจะจัดสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้แก่ผู้ยื่นคำขอลี้ภัย และจะได้รับใบอนุญาตให้พำนักอยู่ในเยอรมนีเป็นการชั่วคราว โดยที่จะมีทนายความซึ่งเป็นชาวเยอรมัน เป็นผู้ช่วยเหลือดูเเลในเรื่องการขอลี้ภัย หากคำขอลี้ภัยได้รับการอนุมัติ ในช่วงแรกจะได้รับอนุญาตให้พำนักอยู่ในเยอรมนีเป็นเวลา 3 ปี ก่อน
การที่พระพรหมเมธีจะได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยหรือไม่นั้น ขั้นตอนในการสัมภาษณ์มีความสำคัญที่สุด โดยการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ลี้ภัยหรือไม่ ส่วนใหญ่จะพิจารณาจากการสัมภาษณ์นี้ ซึ่งจะมีล่ามช่วยในการแปลระหว่างการสัมภาษณ์ และมีสิทธิจะขอให้ทนายความชาวเยอรมันร่วมอยู่ในการสัมภาษณ์ด้วยได้ ซึ่งพระพรหมเมธี จะต้องแสดงเอกสารและพยานหลักฐานให้เห็นว่า ตนเองถูกกลั่นแกล้ง ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นเพราะจากมูลเหตุทางศาสนา หรือทางการเมือง หรือจากเหตุอื่นๆ เช่น พระพรหมเมธี อาจจะอ้างว่าการออกหมายจับ การจับสึกพระผู้ใหญ่โดยไม่ให้ประกันตัวในคดีที่ผ่านมา มาจากความขัดแย้งทางศาสนาและการเมือง ซึ่งตนไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมเมื่อเปรียบเทียบกับคดีอื่นๆ ที่มีความผิดร้ายแรงกว่าก็ได้
ขั้นตอนการเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบเรื่องของการขอลี้ภัย ทางการเยอรมนีจะต้องพิจารณาองค์ประกอบหลายๆ ด้าน ประกอบด้วย 1.การขอลี้ภัยทางการเมือง 2.การขอลี้ภัยในประเภทฐานะผู้ลี้ภัย 3.การขอรับความคุ้มครองเพียงบางส่วน หรือ 4.การขอคุ้มครองเพื่อไม่ให้ถูกส่งไปยังประเทศต้นทาง
นอกจากนั้นสำนักข่าวไทย อสมท ตรวจสอบเรื่องการขอความร่วมมือเรื่องส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ข้อมูลของกองการต่างประเทศ พบว่าไทยกับเยอรมนี ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน มีเพียงสนธิสัญญาโอนตัวนักโทษที่มีมาตั้งแต่ปี 2536 เท่านั้น.-สำนักข่าวไทย