กรุงเทพฯ 6 มิ.ย. – กบร.ปลดล็อคอายุเครื่องบินขนส่งสินค้าเพิ่มเป็น 22 ปี หวังหนุนธุรกิจโลจิสติกส์ ด้านแผนแม่บทพัฒนาท่าอากาศยาน ไฟเขียวสร้าง 2 แห่ง และปรับปรุง 15 แห่ง
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ได้มีมติเห็นชอบที่จะขยายอายุอากาศยานที่จะใช้ขนส่งสินค้าทางอากาศ จากเดิมจำกัดอายุเครื่องบินที่ใช้ขนส่งสินค้าทางอากาศ ห้ามมีอายุเกิน 18 ปี ก็ให้ขยายอายุเครื่องบินเป็น 22 ปี สำหรับสาเหตุที่ขยายอายุเครื่องบินออกไป เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางอากาศของไทยได้มีการขยายงานได้กว้างและมากขึ้น
ประกอบกับผลการศึกษาของ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ(ไออาร์ต้า) ศึกษาว่าการเติบโตของการขนส่งสินค้าทางอากาศเฉลี่ยในโลกโตที่ 3%,ในภูมิภาคเอเซียจะเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยกว่าปีละ 4% ขณะที่ในประเทศไทยอัตราการเติบของการขนส่งทางอากาศจะอยู่ที่ 3.6% และประเมินว่าการขนส่งสินค้าในเอเชียจะโตเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากในปัจจุบันไปในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยปัจจุบันไทยมีอัตราการขนส่งสินค้าทางอากาศเพียง 2.9 ล้านตัน
นายจุฬา กล่าวว่า นอกจากนั้นที่ประชุม กบร.ได้มีมติรับทราบแผนแม่บทพัฒนาสนามบินระยะยาว 20 ปี ในประเทศไทยว่า จะมีการก่อสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ของ สนามบินเชียงใหม่ ที่ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน และสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 ที่ อ.โคกกรวด จ.พังงา ซึ่งทั้ง 2 สนามบินอยู่ในความรับผิดชอบของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)(ทอท.) นอกจากนั้นรับทราบแผนการพัฒนาสนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) จำนวน 15 แห่ง จากทั้งหมด 28 แห่ง โดยส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาอาคารผู้โดยสารในสนามบินภาคใต้ อาทิ กระบี่ สุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ในแผนแม่บทการพัฒนาดังกล่าวจะกำหนดแผนงานก่อสร้าง ระยะเวลาดำเนินการรวมถึงแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์ด้วย. – สำนักข่าวไทย