พม.4 มิ.ย.-กรมกิจการสตรีฯ ชี้แจงประเด็นจากเวทีเสวนา ปัญหาการค้าประเวณีกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยืนยันมีมาตรการคุ้มครอง-ป้องกัน ทั้งเชิงรุก-รับ โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเคารพ หลักสิทธิมนุษยชน
นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เปิดเผยถึงปัญหาการค้าประเวณีกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ซึ่งเคลื่อนไหวด้านการคุ้มครองสิทธิผู้ประกอบอาชีพบริการ จัดเสวนาปัญหาการค้ามนุษย์ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นหลังการล่อซื้อ-จับกุม ซึ่งมีทั้งการเลือกปฏิบัติ ละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศนั้น ว่า การเสวนาข้างต้นได้มีประเด็นที่ว่า แม้รัฐบาลไทยมีนโยบายต่อต้านการค้ามนุษย์และค้าประเวณี แต่ผู้หญิงที่ถูกจับในคดีค้าประเวณี กลับไม่ได้รับการปกป้อง และมักจะถูก ‘ละเมิดซ้ำ’ จากกระบวนการทางกฎหมาย เช่น การบุกจับกุมโดยวิธีการ ‘ล่อซื้อ’ ทั้งที่อาจเป็นความพึงพอใจส่วนบุคคล ไม่ได้เกี่ยวกับการค้าประเวณี ซึ่งในระดับสากลถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ขณะที่ตัวแทนของรัฐบาลไทยเคยยืนยันในเวทีการประชุมด้านสิทธิมนุษยชนที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 2560 ว่า “ไทยไม่มีนโยบายล่อซื้อ” และมองว่าประเทศไทยมีบทลงโทษการค้าประเวณี แต่กลับมีสถานบริการต่าง ๆ จนเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่การบุกจับกุมในคดีค้าประเวณีในไทย เป็นการดำเนินการที่มีอคติกับผู้หญิงค้าประเวณี เพราะผู้ชายที่เป็นผู้ซื้อได้รับการปล่อยตัว แต่ผู้หญิงกลับถูกคลุมโม่ง
นอกจากนี้ การจับกุมตัวบางกรณีมีการเปิดเผยตัวตน ทำให้ได้รับผลกระทบไปถึงครอบครัวและสังคม ถูกตัดขาดไม่ให้ติดต่อกับครอบครัว หรือถูกควบคุมตัวเป็นเวลานานหลายเดือน โดยอ้างว่าเป็นการคุ้มครองเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ผู้ถูกควบคุมตัวที่ขายบริการโดยสมัครใจ โดยเฉพาะชาวเมียนมาและลาว ถูกส่งตัวไปห้องกักขังของ ตม. ซึ่งมีสภาพแออัด เมื่อเจ็บป่วยไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ อีกทั้ง ยังกล่าวถึงอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือซีดอ (CEDAW) ซึ่งทางการไทยได้ให้สัตยาบันไว้ มีเนื้อหาตอนหนึ่งที่ระบุให้แต่ละประเทศ ‘ยกเลิกความผิดทางอาญาที่เกี่ยวกับการค้าประเวณี’ และให้คุ้มครองสิทธิผู้ขายบริการโดยสมัครใจ เช่นเดียวกับการคุ้มครองแรงงานที่ประกอบอาชีพอื่นๆ จึงขอให้รัฐบาลพิจารณายกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี และยกเลิกการดำเนินคดีอาญากับผู้ขายบริการให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้าประเวณี
นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า จากประเด็นดังกล่าว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)โดยกรมกิจการสตรีฯซึ่งเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบการขับเคลื่อนภารกิจตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์ในการกำหนดมาตรการบทลงโทษ มีทั้งโทษจำคุก โทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงการลดโทษแก่ผู้กระทำการค้าประเวณี และคุ้มครองบุคคลที่ถูกค้าประเวณี โดยเฉพาะเด็ก และเยาวชนที่อาจถูกล่อลวง หรือชักพาไปเพื่อการค้าประเวณี และมีการคุ้มครองและฟื้นฟูผู้กระทำการค้าประเวณีให้ได้รับการอบรมฟื้นฟูจิตใจ การบำบัด รักษาโรค การฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยการขับเคลื่อนภารกิจตามพ.ร.บ.ดังกล่าวจะอยู่ในรูปของคณะกรรมการ จำนวน 2 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ (ก.ค.อ.) และคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพประจำจังหวัด (ก.ค.อ.จังหวัด) มุ่งเน้นในส่วนของการคุ้มครองและป้องกันการค้าประเวณีเป็นสำคัญ และคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเคารพหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีมาตรการเชิงรุกและเชิงรับ โดย มาตรการเชิงรุก เน้นหนักในเรื่องการป้องกันกลุ่มเสี่ยงที่อาจถูกล่อลวงสู่การค้าประเวณี โดยการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ ส่งเสริมและฝึกอบรมวิชาชีพ สร้างงานสร้างรายได้ สร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพ และสร้างกลุ่มอาชีพ ตลอดจนให้แนวทางองค์ความรู้ทางการตลาด การจัดจำหน่าย โดยการสานฝันกลุ่มเหล่านั้นด้วยร้าน “ทอฝัน” เพื่อเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน
ส่วนมาตรการเชิงรับ ได้ใช้หลักการอาชีวบำบัดสำหรับกลุ่มที่ตกเป็นเหยื่อของการค้าประเวณีแล้ว เพื่อฝึกอบรมให้ทักษะทั้งทางกาย จิตใจ และการดำรงชีวิตในสังคมภายหลังที่ได้กลับคืนภูมิลำเนาโดยมุ่งหมายมิให้หวนคืนกลับไปสู่การค้าประเวณี โดยเฉพาะผู้กระทำการค้าประเวณีเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ต้องให้การคุ้มครองและพัฒนาอาชีพแทนการลงโทษและให้ความรู้ทักษะในการดำรงชีพ เพื่อคืนกลับสังคมได้อย่างปกติสุข (มาตรา 34) ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวได้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และมุ่งเอาผิดต่อผู้ซื้อประเวณี ผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และบิดา มารดา ผู้ปกครอง ที่ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้อยู่ในอำนาจปกครองกระทำการค้าประเวณี
“ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 กำหนดความผิดและโทษสำหรับการค้าประเวณีที่ได้กระทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญหรือ เป็นที่น่าอับอายในที่สาธารณะ โดยระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาทและหากผู้กระทำการค้าประเวณีเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ต้องให้การคุ้มครองสวัสดิภาพด้วยการฝึกอาชีพและให้ความรู้ทักษะในการดำรงชีพ เพื่อคืนกลับสังคมได้อย่างปกติสุข ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวได้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและมุ่งเอาผิดต่อผู้ซื้อประเวณีผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และบิดา มารดา ผู้ปกครองที่ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้อยู่ในอำนาจปกครองกระทำการค้าประเวณี สำหรับ กรณีการให้ยกเลิกความผิดทางอาญาที่เกี่ยวกับการค้าประเวณีและให้คุ้มครองสิทธิผู้ขายบริการโดยสมัครใจเช่นเดียวกับการคุ้มครองแรงงานที่ประกอบอาชีพอื่น ๆ นั้น พม. ได้คำนึงถึงความสำคัญของพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ซึ่งจะต้องมีความเหมาะสม เป็นธรรม ไม่เป็นภาระแก่ประชาชน ตลอดจนสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558 และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on The Elimination of All Forms of Discrimination against Women – CEDAW) รวมถึงการดำเนินชีวิตและเทคโนโลยีที่มีความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน จึงได้ดำเนินการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อปรับปรุงพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 โดยกำหนดโครงสร้างทางกฎหมายให้ครอบคลุมทั้งมาตรการป้องกัน ปราบปราม และการคุ้มครองสวัสดิภาพ และคำนึงถึงหลักการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบที่กำหนดใน CEDAW รวมทั้งจะต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในการจัดทำร่างกฎหมายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ต่อไป” นายเลิศปัญญา กล่าว .-สำนักข่าวไทย