กรุงเทพฯ 31 พ.ค. – ปตท.-ธอส.พร้อมสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยเข้มแข็งในอนาคต
นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และประธานศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ปีนี้ธนาคารตั้งงบสินเชื่อเพื่อปล่อยกู้แก่ผู้ประกอบการเป็นปีแรกนับตั้งแต่งดปล่อยกู้มาตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 โดยตั้งงบ 1,000 ล้านบาทสนับสนุนผู้ประกอบการก่อสร้างสตาร์ทอัพ รายละไม่เกิน100 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 4 โดยขณะนี้ไม่มีข้อมูลอสังหาฟองสบู่แต่อย่างใด และจากความมั่นใจของผู้ประกอบการการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์จึงเพิ่มขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทำให้ ธอส.เชื่อมั่นว่าปีนี้จะปล่อยกู้ทำลายสถิติถึง 200,000 ล้านบาท และยังมีแผนร่วมมือปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำกับข้าราชการทหาร วงเงิน 30,000 ล้านบาทด้วย โดยจะลงนามกับทางกองทัพไทยเร็ว ๆ นี้
นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและดิจิตอล บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ปตท.เตรียมงบเพื่อลงทุนในกองทุนรูปแบบการร่วมลงทุน (Venture Capital) ในปีนี้ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีเป้าหมายการลงทุนอย่างน้อย 2 กองทุน เน้นกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพในเอเชีย รวมถึงประเทศไทย โดยปัจจุบันลงทุนรวม 4 กองทุน ซึ่งอยู่ในรูปแบบ Corporate Venture Capital (CVC) คิดเป็นมูลค่าลงทุนเกือบ 40 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นกลยุทธ์สร้างความยั่งยืนในอนาคต โดยการลงทุนจะครอบคลุมทั้งสิ่งเกี่ยวเนื่องพลังงานและอื่น ๆ เช่น ดิจิทัล เอไอ ไอโอที เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปี 2560 ได้เข้าลงทุน 4 กองทุนในสหรัฐเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องพลังงานคิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 8-10 ล้านเหรียญสหรัฐ/กองทุน ซึ่งการลงทุนดังกล่าวนอกเหนือจะได้รับตอบแทนจากการลงทุนแล้ว ก็ยังมีโอกาสต่อยอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ในอนาคตด้วย
นายวิทวัส กล่าวว่า ปตท.ได้รับทราบว่ามีอยู่ 1 กองทุนที่ปตท.เข้าไปลงทุน แล้วกองทุนดังกล่าวเข้าไปถือหุ้นในบริษัท Greenlot สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ Software ของสถานีประจุไฟฟ้ารถ EV และอื่น ๆ ซึ่งบริษัทนี้ถือหุ้นในบริษัทจีแอลที กรีน (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกเครือข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ในไทย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้กลับมาลงทุนปลายทาง ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพแห่งหนึ่งในประเทศไทย ทำให้มีโอกาสที่จะหารือเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลและมีโอกาสลงทุนใหม่ ๆ ตั้งแต่ต้นทางได้
สำหรับการลงทุนกองทุนประเภท CVC จะเสมือนรูปแบบของบริษัทที่มองหาทิศทางธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นแล้วเข้าไปลงทุนด้วย ซึ่งหากธุรกิจนั้นไปได้ก็จะเข้าไปลงทุนเพิ่ม หรือเมื่อมีบุคคลสนใจซื้อก็พร้อมที่จะขายออก ซึ่งแตกต่างจากการลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่เป็นการลงทุนจริงในสตาร์ทอัพนั้น ๆ ซึ่งจะทำได้รวดเร็วกว่าและมีโอกาสการต่อยอดเทคโนโลยีได้. – สำนักข่าวไทย