กรุงเทพฯ 31 พ.ค. – ก.อุตฯ เผยจีนและญี่ปุ่นสนใจลงทุนอีอีซี คาด 5 ปีจะมีการลงทุนในพื้นที่อีอีซีรวม 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมเป้าหมาย งานวิจัยและพัฒนา การสร้างเมืองใหม่หรือสมาร์ทซิตี้
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยและสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย จัดงานสัมมนาหัวข้อ “China-Japan Corperation on the Eastern Economic Corridor of Thailand”
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การสัมมนาวันนี้ สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้สาธารณรัฐประชาชนจีนและญี่ปุ่นลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอกชนระหว่างจีนญี่ปุ่นในประเทศที่ 3 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 ที่กรุงโตเกียว โดยบันทึกความเข้าใจดังกล่าวระบุถึงการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนากิจกรรมทางธุรกิจของภาคเอกชนจีนและญี่ปุ่นภายใต้กรอบเจรจาระดับสูงด้านเศรษฐกิจและทั้ง 2 ประเทศจะร่วมกันสำรวจตลาดและภาคอุตสาหกรรมในประเทศที่ 3 ที่ภาคเอกชนจีนและญี่ปุ่นจะร่วมลงทุน
นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางจีนและญี่ปุ่นมีความสนใจที่จะร่วมลงทุนในภาคอุตสาหกรรมงานวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาบุคลากรในประเทศไทย โดยเน้นพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นอกจากนี้ ทางจีนยังขอนำคณะนักลงทุนมาดูลู่ทางการลงทุนในไทย โดยมีความสนในลงทุนตามนโยบายประเทศไทย 4.0 และอุตสาหกรรม 4.0 ทางญี่ปุ่นสนใจเรื่องห่วงโซ่การผลิต ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงอุตสาหกรรมลงนามกับกระทรวงอุตสาหกรรมกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (เมติ) ในเรื่องอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่ง สกพอ.จะติดตามหน่วยงานทั้ง 2 ประเทศต่อไป เช่น ทางญี่ปุ่นจะติดตามจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่าง ประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิค) และหน่วยงานของจีนต่อไป ทั้งการลงทุนใหม่และการขยายการลงทุนเดิมที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย
นอกจากนี้ สกพอ. บีโอไอ และกระทรวงอุตสาหกรรมยังเตรียมที่จะจัดทำโครงการโรดโชว์เพื่อชักจูงนักลงทุนจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และสหภาพยุโรป ให้เข้ามาลงทุนในอีอีซี โดยทางเกาหลีเชิญกระทรวงอุตสาหกรรมนำคณะไปเยือน เพื่อแสวงความร่วมมือในการลงทุนระหว่างทั้ง 2 ประเทศเร็ว ๆ นี้ คาดว่า ในช่วง 5 ปีนับจากนี้การลงทุนในพื้นที่อีอีซีจะมีการลงทุนรวมสูงถึง 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนา ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอีอีซี จะร่วมกับสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยและสถานทูตจีนประจำประเทศไทยตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือการลงทุนร่วมกันของจีนและญี่ปุ่น ซึ่งมีพื้นที่อีอีซีเป็นพื้นที่นำร่องของทั้ง 2 ประเทศ โดยกรอบการทำงานจะเสร็จภายใน 2 เดือน ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะถูกบรรจุไว้ในการประชุมระดับผู้นำประเทศและมีการพูดถึงความร่วมมือลงทุนในอีอีซีติดไปด้วยทุกครั้ง อย่างไรก็ตาม ไทยพร้อมที่จะประสานความร่วมมือกับทุกประเทศที่มีความสนใจลงทุนในอีอีซีและลงทุนในไทย ส่วนประเทศเกาหลี ยังไม่มีความร่วมมือในการลงทุนในไทย เช่นที่จีนกับญี่ปุ่นได้ร่วมมือกันในครั้งนี้ ส่วนการเปิดประมูลโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐยืนยันว่าจะยังคงอยู่ในรูปแบบของการเปิดประมูลแบบ international Bidding ในรูปแบบกรอบแผนงานโครงการร่วม ลงทุนกับเอกชน (PPP)
นายหนิง จี๋เจ๋อ รองประธาน คณะกรรมาธิการเพื่อการปฏิรูปและพัฒนาสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่าจีนและไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันและประชาชนใกล้ชิดสนิทสนมกันสมาชิกในครอบครัวพัฒนาการความร่วมมือทวิภาคีก็มีแนวโน้มดีขึ้นตลอด 43 ปีตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกันนำมาซึ่งผลสำเร็จทางเศรษฐกิจ การค้า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความร่วมมือระหว่างประชาชนกับประชาชน การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและความร่วมมือในสาขาอื่น ๆ
ทั้งนี้ เชื่อว่าโครงการอีอีซีของไทยจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งสำคัญในการเพิ่มพูนการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ตลอดจนการยกระดับและคุณภาพของการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมซึ่งผู้นำจีน ญี่ปุ่นและไทย ต่างให้ความสำคัญอย่างมากต่อความร่วมมือไตรภาคีที่ทั้งมีความสำคัญอย่างยิ่งและมีโอกาสในวงกว้าง ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐของทั้ง 3 ประเทศจึงควรเพิ่มการสื่อสารด้านนโยบายระหว่างกัน รวมถึงการให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกแก่บริษัทของทั้ง 3 ประเทศและส่งเสริมให้ความร่วมมือในโครงการเฉพาะเจาะจง
นายชิโร ซะโดชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจําประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมากิจการของญี่ปุ่นกว่า 5, 000 กิจการได้ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยและโดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี ซึ่งต่างก็มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยรัฐบาลญี่ปุ่นจะยังคงผลักดันและสนับสนุนกิจกรรมทางธุรกิจของภาคเอกชนญี่ปุ่นในประเทศไทย รวมถึงการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่อีอีซี อีกทั้งจะช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการนี้รัฐบาลญี่ปุ่นมีความประสงค์ที่จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเอกชนญี่ปุ่นจีนและไทย.- สำนักข่าวไทย