รร.ดุสิตฯ 23 พ.ค. – รัฐบาลชี้แจงทีโออาร์รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินพรุ่งนี้ พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นเอกชน คาดประกาศรายชื่อผู้ชนะประมูล พ.ย.นี้
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รับทราบสาระสำคัญของทีโออาร์โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ซึ่งได้จัดทำร่างทีโออาร์เสร็จ โดยกระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม และเลขาธิการอีอีซี พร้อมด้วยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมเปิดชี้แจงร่างทีโออาร์วันที่ 24 พฤษภาคมนี้ เกี่ยวกับเงื่อนไขการให้เอกชนร่วมลงทุน เพื่อเปิดเผยหลักเกณฑ์ กรอบเวลาการเปิดขายซองประกวดราคา ยืนยันว่าสัดส่วนของการลงทุนยังเป็นไปตามกฏหมายไทย ด้วยการกำหนดให้บริษัทเอกชนสัญชาติไทยถือหุ้นใหญ่สัดส่วนร้อยละ 51 หากลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าเอกชนจะเข้าใจแผนการลงทุน เพราะมีทั้งการลงทุนด้านระบบราง เชื่อม 3 สนามบิน และการลงทุนพัฒนาที่พื้นที่บริเวณสถานีมักกะสัน ยอมรับว่ามีเอกชนไทยและต่างชาติ ทั้งยุโรป จีน ญี่ปุ่น เข้ารวมกลุ่มเป็นบริษัทร่วมลงทุนเข้าประกวดราคา เนื่องจากเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่
เมื่อเปิดทีโออาร์แล้ว จะมีการเปิดรับฟังความเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) และจะเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟัง ยอมรับขณะนี้มีนักลงทุนหลายรายสนใจเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการ หลังจากเปิดทีโออาร์จะให้เวลา 4 เดือนกับผู้ที่สนใจ เพื่อไปทำข้อเสนอโครงการแล้วยื่นข้อเสนอกลับมาคณะกรรมการคัดเลือกจะพิจารณาข้อเสนอและเลือกผู้ชนะ โดยจะใช้เวลาเจรจาอีกประมาณ 1 เดือน จากนั้นจะรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบ จึงคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 5 เดือน เพื่อประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากร่วมกับกลุ่มบีทีเอสประมูลสร้างรถไฟฟ้าสีเหลืองและสีชมพู ขณะนี้ได้เตรียมเสนอประกวดราคา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ด้วยเช่นกัน แต่ต้องการรับทราบรายละเอียดทีโออาร์ให้ชัดเจน เพราะหากลงทุนทั้งระบบโยธา ระบบราง บริหารโครงการลงทุนอสังหาริมทรัพย์สถานีมักกะสัน นับเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ต้องศึกษาอย่างรอบคอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าช่วงที่ผ่านมาที่ประชุม ครม.อนุมัติกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุนกับเอกชนในโครงการดังกล่าววงเงินไม่เกิน 119,425.75 ล้านบาท ที่เป็นมูลค่าปัจจุบันตามที่ตกลงในสัญญาร่วมลงทุน โดยทยอยจ่ายให้เอกชนหลักจากเริ่มเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงทั้งระบบแล้ว และแบ่งจ่ายเป็นรายปี โดยกำหนดระยะเวลาแบ่งจ่ายไม่ต่ำกว่า 10 ปี และอนุมัติให้ รฟท. มีอำนาจร่วมลงทุนกับเอกชนที่ได้รับคัดเลือก อีกทั้ง อนุมัติค่างานที่เกี่ยวข้องกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์โครงการรถไฟความเร็วสูง ในกรอบวงเงิน 3,570 ล้านบาท และยังเห็นชอบให้รัฐบาลรับภาระหนี้โครงสร้างพื้นฐานของโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ของ รฟท. 22,558 ล้านบาท .-สำนักข่าวไทย