ธ.ก.ส. 22 พ.ค. – ธ.ก.ส.จับมือดีป้าสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล พร้อมขับเคลื่อนผู้ประกอบการ และสร้าง Platform การท่องเที่ยวชุมชน เพิ่มช่องทางการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ยุคเศรษฐกิจ 4.0
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และนายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้าได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจว่าด้วย “การส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล” เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลนำมาพัฒนาชุมชนให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
นายอภิรมย์ กล่าวว่า ธ.ก.ส.ได้จัดทำโครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมุ่งเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างภูมิคุ้มกัน 7,927 ชุมชน และมีศูนย์เรียนรู้ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้การพัฒนาชุมชนด้านต่าง ๆ 77 ศูนย์ รวมถึงต่อยอดชุมชนที่มีศักยภาพและความโดดเด่น ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ ประเพณีและวัฒนธรรม ไปสู่รูปแบบการท่องเที่ยววิถีชุมชนตามโครงการ “ธ.ก.ส.นำเที่ยวชุมชนทั่วไทยตามรอยเท้าพ่อ” เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ เกิดการกระจายรายได้เชิงเศรษฐกิจ ลดปัญหาการย้ายถิ่นฐานและกระตุ้นให้ชาวบ้านเกิดความรักความหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติตลอดจนการดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของท้องถิ่น
สำหรับปี 2561 ธ.ก.ส.มีเป้าหมายพัฒนาชุมชนอุดมสุข 800 ชุมชน พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายชุมชนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 35 ชุมชน ซึ่งการร่วมมือครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาชุมชน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนด้านการผลิต การแปรรูป การตลาด การบริการและการท่องเที่ยวโดยชุมชน ทั้งนี้ ธนาคารได้ดำเนินการตามแนวทางที่สอดคล้องกับโครงการนวัตวิถีของกระทรวงมหาดไทยที่ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวและซื้อสินค้าจากชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากของประเทศต่อไป
นายณัฐพล กล่าวว่า ดีป้าให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลยกระดับสังคมทุกมิติ โดยเฉพาะการเข้าไปดูแลและพัฒนาชุมชน 24,700 ชุมชน ให้เข้ามาอยู่ในฐานข้อมูลดิจิทัล โดยสนับสนุนให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในพื้นที่ของตนเองในลักษณะของการส่งวิทยากรอาสาเข้าไปอบรมให้ความรู้แก่คนในชุมชน องค์กรชุมชน และผู้ประกอบการในชุมชน เพื่อให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลและเกิดการขยายผลไปสู่ชุมชนรอบข้าง รวมถึงความร่วมมือกับ ธ.ก.ส.พัฒนาและจัดหาช่องทางการตลาดแบบดิจิทัล การพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศของชุมชน ระบบการบริหารข้อมูลในรูปแบบแอพพลิเคชั่นหรือ Platform เข้ามาช่วยในการพัฒนาด้านการเกษตร การแปรรูป การบริการ การตลาด และการท่องเที่ยวชุมชน สู่การเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการของชุมชนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อให้ประเทศก้าวไปสู่ยุค Thailand 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล . – สำนักข่าวไทย