นนทบุรี 22 พ.ค. – ผู้อำนวยการสถาบันอัญมณีฯ หวั่นสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยถูกละเมิดสิทธิ์ลอกเลียนแบบทั้งตลาดในและตลาดนอก เตรียมเสริมความรู้จัดอบรมปกป้องสิทธิ์
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า แม้ตัวเลขของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับที่ 3 รองจากรถยนต์ คอมพิวเตอร์ โดยสร้างรายได้เข้าประเทศสูงถึง 435,000 ล้านบาท และมีมูลค่าการซื้อขายในประเทศ 533,000 ล้านบาท ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศปีละเกือบ 11 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.3 ของจีดีพี แต่สิ่งที่สถาบันฯ มีความเป็นห่วงด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้มีการลอกเลียนแบบการออกแบบกลุ่มสินค้าเหล่านี้มากขึ้น ทำให้ลูกค้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเกิดความไม่มั่นใจในตัวสินค้าเท่าที่ควร ดังนั้น ทางสถาบันฯ จึงจัดอบรม “ทรัพย์สินทางปัญญา เรียนรู้ เข้าใจ ใช้เป็น : Grow your Business , Protect your Ideas” เพื่อช่วยต่อยอดและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้กับผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทย เพื่อจะได้ป้องกันสิทธิ์และสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น โดยกำหนดจัดขึ้นวันที่ 2 และ 9 มิถุนายน 2561 ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 3 อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ถนนสีลม กรุงเทพ
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าปัจจุบันทรัพย์สินทางปัญญามีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยอย่างมาก ทั้งการออกแบบ การคิดค้น การผลิต การใช้นวัตกรรม หรือแม้แต่ภาพถ่าย เพราะหากผู้ประกอบการที่มีการประดิษฐ์คิดค้นออกมาแล้วไม่ให้ความสำคัญกับการปกครองและคุ้มครองสิทธิ ก็อาจจะถูกละเมิด ทำให้ธุรกิจได้รับความเสียหายจากการถูกลอกเลียนแบบและนำไปหาผลประโยชน์แบบผิด ๆ ที่จะสร้างความเสียหายให้กับภาคอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย
ทั้งนี้ ทางสถาบันฯ จึงอยากให้ผู้ประกอบการเล็งเห็นถึงความสำคัญของการปกป้องและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา จึงได้ผนึกกำลังกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการอบรมครั้งนี้ และได้เชิญนางอุษณี ศิริเรือง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสิทธิบัตรจากกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้มาให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา นวัตกรรมสินค้า ความคุ้มครองต่าง ๆ รวมทั้งการจัดการกับข้อพิพาท และการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ เพื่อเป็นเครื่องมือทางการค้าและสร้างความมั่นใจในกลุ่มสินค้านี้จากผู้บริโภคทั่วโลกมากขึ้น โดยผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-634-4999 ต่อ 301–306 หรือดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.git.or.th ได้.-สำนักข่าวไทย