สำนักข่าวไทย 21 พ.ค.-ป.ป.ท.ร่วม กอ.รมน.ลงตรวจพื้นที่สงวนเลี้ยงสัตว์ปากบาง-เกาะโหลน จ.ภูเก็ต หลังพบถูกยึดครองสร้างโรงแรม-ร้านค้า-ร้านอาหาร พร้อมสั่งป.ป.ท.เขต 8 ลงลึกหาข้อมูลสร้างตึกสูงในป่าเทือกเขากมลา เตรียมประสานผู้ว่าฯ ร่วมตรวจสอบ 3 จุด
พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (เลขาธิการ ป.ป.ท.) นาวาเอกบวร พรมแก้วงาม รอง ผอ.กอ.รมน.จังหวัดภูเก็ต , เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. และเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจัก (กอ.รมน.) ได้ลงตรวจสอบพื้นที่สงวนเลี้ยงสัตว์ปากบาง ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เนื่องจากมีการร้องเรียนว่านายทุนได้นำพื้นที่ดังกล่าวให้ชาวต่างชาติเช่าเต็มพื้นที่ และมีการออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ที่สงวนเลี้ยงสัตว์เกาะโหลน
พ.ท.กรทิพย์ กล่าวว่า เบื้องต้นพบว่าพื้นที่สงวนเลี้ยงสัตว์ปากบาง กระทรวงมหาดไทย ได้ออกประกาศหวงห้ามไว้ลำดับแปลงที่14และนำขึ้นทะเบียนไว้เมื่อวันที่19 เม.ย.2480 เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์เป็นที่เลี้ยงสัตว์ร่วมกันในเนื้อที่ 18-2-46 ไร่ แต่จากการตรวจสอบพบว่ามีการยื่นขอออกโฉนดที่ดินในพื้นที่3 แปลงโดย 1 ในจำนวนนั้นช่างรังวัดได้รายงานว่าไม่ทับที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งช่างรังวัดคนนี้ เป็นบุคคลเดียวกับคนรังวัดที่ดินเนื้อที่กว่า 200 ไร่ บนเทือกเขากมลา ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ให้อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต
ทั้งนี้ สภาพในพื้นที่ปัจจุบันบางส่วนเป็นโรงเรียนประชานุเคราะห์ 36 แต่พื้นที่ส่วนที่เหลือไม่ปรากฎสภาพที่สงวนเลี้ยงสัตว์ พบเพียงโรงแรม 5 แห่ง ร้านค้าและร้านอาหารอีกจำนวน 63 ร้าน ซึ่งร้านอาหารขนาดใหญ่เป็นของรองนายก อบต.คนหนึ่ง และร้านค้าส่วนใหญ่เป็นของชาวต่างชาติ นอกจากนี้ยังพบว่าได้มีการยื่นขอออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ 3 แปลง แต่ยังไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้
เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวอีกว่า ส่วนที่สงวนเลี้ยงสัตว์เกาะโหลน ข้าหลวงประจำจังหวัดได้ประกาศหวงห้ามเมื่อ พ.ศ.2476 ในลำดับแปลงที่ 24 และได้นำขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่วันที่12 ก.ค.2493 เพื่อใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ เนื้อที่ 2,500 ไร่ โดยที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเกาะโหลนซึ่งเป็นป่าคุ้มครองเมื่อปี พ.ศ.2481 และประกาศป่าสงวนเมื่อ 22 พ.ย.2511 แต่จากการตรวจสอบพบว่ามีการออกโฉนดที่ดินจำนวน 4 แปลง และหนังสือรับรองการทำประโยชน์อีก จำนวน 1 แปลง เนื้อที่กว่า 146 ไร่ ซึ่งเอกสารเดิมที่นำยื่นขอออกคือ ส.ค.1 ยื่นเมื่อปี พ.ศ.2498 โดยผู้แจ้ง ส.ค.1 อ้างว่าสับสร้าง มาประมาณ 3 ปี และสับสร้างเองเมื่อประมาณ 8ปีรวมเนื้อที่ ส.ค.1 ทุกแปลงมีเนื้อที่ 101 ไร่ แต่นำไปออกโฉนด 136 ไร่และออก น.ส.3 ก. เนื้อที่ 10 ไร่ ซึ่งเป็นการแจ้งภายหลังการประกาศหวงห้ามเป็นที่สาธารณประโยชน์เมื่อปี พ.ศ.2476
อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบทางกายภาพ พบว่า ที่สงวนเลี้ยงสัตว์เกาะโหลน ยังมีสภาพเป็นเกาะสมบูรณ์ แต่ผู้ครอบครองอ้างว่า ได้เข้าไปทำประโยชน์ทำสวนยางพารา 13 ปี ก่อนจะมีประกาศพื้นที่หวงห้าม ดังนั้น ป.ป.ท.เขต 8 ต้องตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลัง เพื่อพิสูจน์ว่า มีการทำประโยชน์จริงตามที่กล่าวอ้างหรือไม่
พ.ท.กรทิพย์ เปิดเผยอีกว่า หลังการตรวจสอบที่สงวนเลี้ยงสัตว์ทั้ง 2 แห่ง ปรากฎว่ามีชาวบ้านมายื่นหนังสือขอให้ตรวจสอบการตัดถนนผ่านป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขากมลา ซึ่งเป็นงบประมาณของ อบต.กมลา โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ เมื่อลงพื้นที่ไปตรวจสอบในพื้นที่ดังกล่าวมีแต่โรงแรมและกำลังมีการปรับหน้าดิน เตรียมการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ พื้นที่กว่า 40 ไร่ จึงได้ดำเนินการตรวจวัดความสูงจากระดับน้ำทะเลด้วยเครื่องจีพีเอส พบว่าสูงกว่าระดับน้ำ 108 เมตร ซึ่งตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกําหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ.2560 พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเกินกว่า 80 เมตรขึ้นไป ห้ามไม่ให้ก่อสร้างอาคารใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น จะต้องตรวจสอบว่าหน่วยงานใดเป็นผู้อนุญาตให้ก่อสร้างและได้มีการทำจัดทํารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือไม่ โดยข้อมูลเบื้องต้นยังไม่พบว่ามีการทำรายงานดังกล่าว ซึ่งเรื่องทั้งหมด จะให้สำนักงาน ป.ป.ท.เขต 8 ตรวจสอบเรื่องนี้ และจะเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อประสานความร่วมมือให้ตรวจสอบทั้ง 3 จุด.-สำนักข่าวไทย