ชี้การปฏิรูปตำรวจ ต้องแก้ไขที่ระบบมากกว่าร่างกฎหมาย

กรุงเทพฯ 19 พ.ค.-นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ชี้การปฏิรูปตำรวจ ต้องแก้ไขที่ระบบมากกว่าร่างกฎหมาย ระบุการแก้ไขกฎหมายให้ประชาชนแจ้งความได้ทุกสถานีตำรวจ เป็นดาบสองคม เหตุอำนาจทับซ้อนกัน แนะควรแก้ไขปัญหาโครงสร้างตำรวจให้เล็กลง และให้ประชาชนประเมินผลงานตำรวจ


นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยกับสำนักข่าวไทยถึงการปฏิรูปตำรวจที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ว่า เรื่องการปฏิรูปตำรวจ มักเกิดปัญหาในภาคปฏิบัติมากกว่า โดยเฉพาะกลไกรัฐ ระบบราชการ กระบวนการทำงาน วัฒนธรรมองค์กร ความพึงพอใจในการบริการประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขที่ตัวระบบมากกว่าการร่างกฎหมาย หรือออกมาตรการต่าง ๆ เพราะไม่ได้เป็นเรื่องที่จะแก้ได้อย่างจริงจัง สุดท้ายแม้จะมีมาตรการออกมาหรือบทบัญญัติออกมา บทบัญญัติเหล่านั้น ไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้ กลไกของตำรวจก็ยังอยู่ในโครงสร้างและวัฒนธรรมแบบเดิม ซึ่งในประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติเรื่องเขตอำนาจการพิจารณาคดีที่มีหลักคิดและเหตุผลที่ต้องการจำกัดอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นไปตามหลักนิติธรรมที่ไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจละเมิดสิทธิของประชาชน ดังนั้นการที่กำหนดว่าเหตุใดเกิดในท้องที่ใด จะต้องแจ้งความท้องที่นั้น และพนักงานสอบสวนมีอำนาจในขอบเขตนั้น ๆ ถือว่าเป็นการจำกัดการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐไว้ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม

“หากคณะกรรมการฯ จะแก้ไขกฎหมาย โดยกำหนดให้แจ้งความได้ทุกสถานีตำรวจ จะต้องพิจารณาให้ดี เพราะเป็นดาบสองคม แม้จะช่วยเรื่องความสะดวกของประชาชน แต่เมื่อมองอีกด้าน จะทำให้เรื่องกระบวนการจำกัดอำนาจหน้าที่รัฐไม่สามารถเป็นไปได้ตามหลักที่ควรจะเป็น และสุดท้ายจะเกิดการใช้อำนาจแบบดุลยพินิจ และอาจเกิดการก้าวก่ายการทำงานกันได้ เพราะวันนี้ แม้กระทั่งตำรวจท้องที่ ตำรวจในส่วนกลาง หลายครั้งก็มีอำนาจทับซ้อนกัน และผลของการทำงานก็ออกมาคนละทิศทาง ดังนั้นจึงไม่เชื่อว่าปัญหาต่าง ๆ จะแก้ไขได้เพียงแค่ใช้กฎหมายเท่านั้น หรือการปลดล็อกโดยการใช้คำสั่งพิเศษ” นายยุทธพร กล่าว


ส่วนกรณีที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ กรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ควรแยกการทำงานของหน่วยปราบปรามกับพนักงานสอบสวนออกจากกันนั้น นายยุทธพร กล่าวว่า เรื่องพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายอาญา ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าพนักงานสอบสวนต้องเป็นปลัดอำเภอหรือฝ่ายปกครอง เพียงแต่มีข้อตกลงระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกรมตำรวจในขณะนั้นเรื่องการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ ทำให้พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจสามารถเข้ามาทำงานได้ด้วย จึงทำให้เกิดฝ่ายสอบสวนขึ้นมาในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งที่ความเป็นจริง กระบวนการสืบสวนและสอบสวนควรแยกออกจากกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะมีหน้าที่สืบสวนจับกุม ขณะที่การสอบสวน ควรเป็นหน้าที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือพนักงานอัยการ ซึ่งจะทำให้ถ่วงดุลอำนาจได้

นายยุทธพร กล่าวอีกว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีภารกิจที่กว้างขวาง และหลายภารกิจก็คาบเกี่ยวกับภารกิจของฝ่ายข้าราชการพลเรือน เช่น เรื่องการตรวจคนเข้าเมือง การจราจร ตำรวจเฉพาะทาง เช่น ตำรวจรถไฟ เป็นต้น ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่าไม่ใช่สายงานหลัก และเมื่อภารกิจปะปนกัน ทำให้ตำรวจไม่ได้มุ่งเน้นการทำงานที่เป็นสายหลักของตนเองอย่างชัดเจน และหลายครั้ง หน่วยงานเหล่านี้กลายเป็นพื้นที่ของการกินตำแหน่งต่าง ๆ ซึ่งง่ายกว่าการขึ้นตำแหน่งในหน่วยงานหลัก

ส่วนประเด็นการขึ้นเงินเดือนของตำรวจนั้น นายยุทธพร กล่าวว่า ไม่ใช่ตัวแปรผกผันของการคอร์รัปชั่น เพราะไม่ได้ทำให้การคอร์รัปชั่นหมดไป ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่ปัญหาในเชิงบุคคล เพราะโครงสร้างเป็นตัวกำกับให้บุคคลแสดงออกซึ่งพฤติกรรม โดยโครงสร้างที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นมีอยู่ 3 ส่วน ได้แก่ 1.รัฐรวมศูนย์ของระบบราชการไทย ซึ่งทำให้เกิดกระบวนการวิ่งเต้น 2.การมีวัฒนธรรมเชิงอุปถัมภ์ เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐทำงานที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ และ 3.กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นเพียงในเชิงปริมาณ ไม่ใช่เชิงคุณภาพ


“การแก้ปัญหาตำรวจ ต้องทำให้โครงสร้างตำรวจเล็กลง โดยถ่ายเทภารกิจไปยังหน่วยงานอื่น หรือไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี การมีระบบธรรมาภิบาลในการแต่งตั้งโยกย้าย เพื่อป้องกันการซื้อขายตำแหน่ง มีการชี้วัดที่ชัดเจน ลดการใช้ดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชา สิ่งเหล่านี้จะทำให้เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายมีความเป็นธรรม นอกจากนี้ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการประเมินผลงานตำรวจ ซึ่งต้องเป็นประชาชนจริง ๆ ไม่ใช่แค่บางกลุ่มที่มีเส้นสาย มีความสัมพันธ์อันดี” นายยุทธพร กล่าว.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สำนักสงฆ์หูตาทิพย์

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์”

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์” พระอ้างใช้สอนวิปัสสนากรรมฐาน เบื้องต้นอายัดไว้พิสูจน์ดีเอ็นเอ พร้อมเอาผิดหัวหน้าสำนักสงฆ์ ฐานนำศพเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่สุสานและฌาปนสถาน

“สนธิ” ยื่นถอด “ตั้ม-เดชา” ออกจากทนาย

“สนธิ ลิ้มทองกุล” หอบหลักฐานบุกสภาทนายความ ถอดทนายตั้ม-ทนายเดชา ออกจากทนาย ระบุ ได้รับมอบอำนาจจาก “มาดามอ้อย” แล้ว เดินหน้าเอาผิด ทนายตั้มแบบสุดซอย ไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่อผู้รู้กฎหมายอีก

รัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มยูเครน

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย แถลงยืนยันว่ารัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มภาคตะวันออกยูเครนเมื่อวานนี้ ตอบโต้ที่ยูเครนใช้ขีปนาวุธที่ได้รับมอบจากสหรัฐและอังกฤษ

ข่าวแนะนำ

โค้งสุดท้าย ศึกสองนารีชิงเก้าอี้ นายก อบจ.นครฯ

เหลือไม่ถึง 2 วันแล้ว ที่ชาวนครศรีธรรมราชจะได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ ศึกนี้เป็นการสู้กันเองของพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายหนึ่งต้องการรักษาฐานที่มั่นไว้ให้ได้ อีกฝ่ายต้องการเจาะฐานให้แตก เพื่อหวังครองที่นั่งการเมืองระดับชาติในสมัยหน้า

ร้อนระอุโค้งสุดท้าย ศึกชิงเก้าอี้ นายก อบจ.อุดรธานี

การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ครั้งนี้ดุเดือดเกินคาด ผู้สมัครจาก 2 พรรคใหญ่ลงชิงชัย ต่างเร่งเครื่องเต็มที่ในโค้งสุดท้าย การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย.นี้ ใครจะเป็นผู้คว้าชัยชนะและสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้จังหวัดอุดรธานี ไปติดตามจากรายงาน

ความเห็นนักวิชาการ คดีทักษิณ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ขณะที่นักวิชาการชี้ว่าไม่ได้พลิกไปจากความคาดหมาย และผลจากคดีนี้ ไม่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมือง แต่ก็ยังมีจุดเสี่ยงที่ต้องระวัง