กรมสุขภาพจิต 18 พ.ค.- กรมสุขภาพจิตห่วงสถานการณ์โรคซึมเศร้ารุนแรงขึ้น เหตุคนไทยกินยาลดความอ้วนมาก เครียดซ้ำเติมจากโยโย่ แนะการลดน้ำหนักดีที่สุดคือออกกำลังกาย ลดได้ทั้งความเครียด น้ำหนักตัว แต่ต้องใช้เวลา
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่าขณะนี้สถานการณ์การใช้ยาลดความอ้วนของคนไทยอยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง ซึ่งไม่เพียงก่อปัญหาผลกระทบทางกายของผู้ที่กินอย่างเดียว ยังทำให้เกิดปัญหาทางจิตเวชด้วย โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า (depression) ซึ่งเป็นภัยเงียบในสังคมไทย มีคนไทยป่วยประมาณ 1.5 ล้านคน แต่ยังมีกว่าร้อยละ 40 ที่ยังไม่เข้ารักษา เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าไม่ใช่โรค แต่เป็นลักษณะนิสัยของผู้ที่เข้าข่ายเรียบร้อยจึงมองข้ามปัญหานี้ไป ผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทยอายุ15ปีขึ้นไปทั่วประเทศ โดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ.2557 พบว่ามีผู้กินยาลดความอ้วนร้อยละ1.5 คาดว่าประมาณ 7.9 แสนคน พบสูงสุดในผู้หญิงอายุ 15-29 ปี ร้อยละ 5.3
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ในยาลดความอ้วนที่มีส่วนผสมของสารอันตราย คือไซบูทรามีน (sibutramine) และเฟนเทอมีน (phentermine) สารชนิดนี้ทำให้มีอาการทางประสาทอ่อนๆ และจะมีมากขึ้นหากคนที่กิน มีปัญหาที่เรียกว่า “โยโย่” คือ มีพฤติกรรมกินอาหารเพิ่มมากขึ้นหลังจากหยุดกินยาลดน้ำหนัก ซึ่งร่างกายต้องการสารอาหารเข้าไปทดแทนส่วนที่หายไป เนื่องจากขณะที่กินยาลดนั้นร่างกายไม่ได้รับสารอาหาร เมื่อหยุดยาร่างกายจึงหลั่งสารเข้าไปกระตุ้นสมองให้มีความอยากอาหารมากขึ้นเป็น 2 เท่า ทำให้กินมากขึ้นและความอ้วนมากกว่าปกติ บางคนอาจมากกว่าเดิมถึง 2 เท่าตัว เมื่อน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม จะทำให้เกิดความเครียดซ้ำเติมหนักขึ้นไปอีก อาจรู้สึกไม่อยากออกไปเจอใคร แยกตัวเอง และหันกลับไปกินยาตัวเดิมซ้ำอีก อาจจะเกิดการดื้อยากินแล้วไม่ได้ผล ต้องกินยาที่แรงขึ้น เสี่ยงอันตรายมากขึ้น
สำหรับสารไซบูทรามีนและสารเฟนเทอมีน ที่ทำให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้นั้น เกิดจากฤทธิ์ยาไปกดสมองส่วนความอยากอาหาร ทำให้รู้สึกเบื่ออาหารและไม่อยากกินอาหาร น้ำหนักตัวจึงลดลง นอกจากนี้ ยายังมีผลทำให้เพิ่มระดับของสารสื่อประสาทสำคัญ 3 ตัว ซึ่งต้องทำงานอย่างสมดุลกัน คือสารซีโรโทนิน (serotonin) ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมอารมณ์ความรู้สึก ความโกรธ ความหิว การรับรู้และความเจ็บปวด สารนอร์อิฟิเนฟฟรีน (norepinephrine) ซึ่งจะควบคุมการตื่นตัว กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทและควบคุมการแสดงออกเวลาที่รู้สึกกลัว
ส่วนสารโดปามีน (dopamine) จะควบคุมสมาธิอารมณ์ ความรู้สึกคล้ายกัน โดยปกติร่างกายจะหลั่งสารออกมาในอัตราส่วนที่เท่าๆ กันหรือสมดุลกัน แต่หากร่างกายมีการหลั่งสารชนิดใดชนิดหนึ่งมากกว่ากัน ก็จะทำให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้าได้ และหากสารนี้ทำงานมากเกินปกติ อาจมีผลทำให้เกิดอาการหูแว่ว หวาดระแวง เห็นภาพหลอนได้เช่นกัน นำมาสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดในชีวิต เช่น การฆ่าตัวตาย เป็นต้น
ด้าน นพ.ประภาส อุครานันท์ ผอ.รพ.พระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ไซบูทรามีน และเฟนเทอร์มีน เป็นกลุ่มยาที่ยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาทในสมอง จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า ผู้ที่ใช้ยาเฟนเทอร์มีน มีอัตราเป็นซึมเศร้าร้อยละ 2 ซึ่งคนที่กินยาเฟนเทอร์มีนนี้จะมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนที่กินยาไซบูทรามีนประมาณ 1.2 เท่า
ส่วนยาไซบรูทรามีน มีอัตราเป็นโรคซึมเศร้าร้อยละ 0.8 และเมื่อมีอาการซึมเศร้าจะมีความสัมพันธ์กับความคิดทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตายถึงร้อยละ 3.6
นอกจากนี้ ยังพบว่ายังมีการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า (Antidepressant) ผิดประเภทนำมาใช้ลดความอ้วน ที่นิยมใช้คือยาฟลูออกซิทิน (Fluoxetine) ซึ่งศูนย์ลดน้ำหนักหลายแห่งมักนำมาใช้ โดยอาศัยผลข้างเคียงของตัวยาคือทำให้เบื่ออาหาร โดยเฉพาะใช้ในขนาดสูง ปัญหาสำคัญเมื่อคนทั่วไปเอายาชนิดนี้มากินในขนาดสูงมาก ๆ อาจทำให้เกิดอาการทางจิตแบบคึกคัก ครื้นเครงหรือร่าเริงเกินเหตุแบบแมเนีย (mania) ได้ ประการสำคัญยาตัวนี้หากกินร่วมกับยาไซบูทรามีนและยาเฟนเทอมีน จะทำให้มีโอกาสเกิดอาการทางจิตสูงกว่าปกติหลายเท่าตัวด้วย
“ขอย้ำเตือนให้ประชาชนที่มีปัญหาอ้วน น้ำหนักตัวมาก ขอให้ใช้วิธีการลดหรือควบคุมน้ำหนักตัวโดยการออกกำลังกายไม่ว่าจะออกกลางแจ้งหรือในฟิตเนสและการควบคุมอาหารการกิน จะดีที่สุดและให้ผลดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขคือ เอ็นดอร์ฟีน (Endorphin) ช่วยลดความเครียดลงได้และช่วยให้นอนหลับดี การควบคุมน้ำหนักตัวด้วยการออกกำลังกายนี้จะต้องใช้เวลาอย่างต่อเนื่อง คือออกสัปดาห์ละอย่างน้อย 3 วัน ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาทีและการลดน้ำหนักที่ปลอดภัย ไม่ควรเกินสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัม”นพ.ประภาสกล่าว
นอกจากนี้ หากประชาชนที่อ้วนไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดน้ำหนักที่ถูกวิธี และหันมาพึ่งยาลดความอ้วนเป็นทางออก คาดว่าจะส่งผลให้สถานการณ์ของโรคซึมเศร้าของไทยบานปลาย รุนแรงขึ้นในอนาคต แนวโน้มผู้ป่วยมีอายุน้อยลงและการใช้ยาลดความอ้วนจะเป็นสาเหตุใหม่ของการเกิดโรคซึมเศร้า ซึ่งจากเดิมที่พบในผู้ที่มีความเครียดและจากกรรมพันธุ์เป็นต้นเหตุ โดยหากมีพ่อหรือแม่เป็นโรคซึมเศร้า ลูกจะมีโอกาสเกิดได้ถึงร้อยละ 10-25 .-สำนักข่าวไทย