กทม.18พ.ค.-ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เสนอ 3 แนวทาง เน้นบูรณาการกลไกเฝ้าระวังสื่อ ปฏิรูปกระบวนการรู้เท่าทันสื่อในสังคม โดยเฉพาะการป้องกันคุ้มครองเด็กเยาวชนกับสื่อออนไลน์
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ และคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ NIDA เปิดเวทีประชุมภาคีเครือข่ายภาครัฐในการขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีจุดประสงค์พัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและวิชาการในการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี อย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดปัญหาที่กระทบต่อความน่าเชื่อถือ ของสื่อที่มีออกมาจากหลากหลายช่องทาง
นายจิรชัย มูลทองโร่ย ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวถึงปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้รับสารผู้ผลิตและสื่อหลอมรวมกัน จนการกำกับดูแลไม่สามารถแยกสื่อประเภทใดประเภทหนึ่งได้โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ที่มีมากจนส่งผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งการควบคุมกำกับดูแลในการปฏิรูป เป็นเรื่องท้าทายในประเทศไทย และการระดมความคิดเห็นจากองค์กรภาครัฐและหน่วยงานทางวิชาการ จะได้กำหนดแนวทางในการปฏิรูปสื่อได้ชัดเจนมากขึ้น
โดยวางเป็น 3 แนวทาง คือ 1.การบูรณาการกลไกเฝ้าระวังสื่อ ทั้งในส่วนของผู้ผลิตสื่อเองที่ต้องตั้งอยู่บนจรรยาบรรณและความรับผิดชอบในการผลิตสื่อ ท่ามกลางการแข่งขันของสงครามสื่อดิจิทัลทุกรูปแบบ 2.ปฏิรูปกระบวนการและรูปแบบ การรู้เท่าทันสื่อในสังคมไทย ตั้งเป้าให้ผู้รับสาร หรือผู้บริโภค มีขั้นตอน กระบวนการ ในการกลั่นกรอง ในการรับสาร ที่มีส่งผ่านในทุกช่องทางได้อย่างถูกต้องโดยเน้นย้ำให้มีการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงของข่าวสารทุกครั้งก่อนที่จะเชื่อในข้อมูลข่าวสารดังกล่าว และ 3.การปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการบริโภคสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเด็กและเยาวชนหาก รับข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นพิษภัยอาจจะส่งผลต่อมุมมองความคิด และเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีคุณภาพ
ด้านนาย วสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คาดหวังให้เวทีการระดมความคิดเห็นในการปฏิรูปสื่อปลอดภัยจะทำให้ทุกองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มองเห็นถึงปัญหาสำคัญในการทำงานสื่อมวลชนท่ามกลางการแข่งขันในสงครามสื่อยุคดิจิทัล ซึ่งต้องทำงานแข่งขันเพื่อให้ตนเองอยู่รอด พร้อมย้ำว่าแม้สื่อเองจะแข่งขันกัน แต่ต้องไม่ลืมจรรยาบรรณจริยธรรมอันดีในการทำหน้าที่สื่อสารมวลชนที่ต้องเป็นผู้ชี้นำสังคม มิเช่นนั้นแล้วอาจจะไม่สามารถเรียกตนเองว่าเป็นสื่อได้อย่างเต็มภาคภูมิ และเวทีครั้งนี้ยังคาดหวังให้ผู้บริโภค ร่วมมือกันตรวจสอบเฝ้าระวังสื่อที่ไม่มีคุณภาพและเป็นภัยให้หมดไปจากสังคมไทย
สำหรับแผนการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศเป็น 1ในประกาศแผนยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปประเทศ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหมวดที่16 ที่ได้กำหนดให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศและให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆให้เกิดผลตามที่กำหนด ซึ่งแผนดังกล่าวเป็นไปตามกำหนดในมาตรา 6 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศพ.ศ.2560 ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561 กำหนดการปฏิรูปสื่อ 6 ด้าน ได้แก่การปฏิรูปการรู้เท่าทันสื่อของประชาชน แนวทางการส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อ ปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ปฏิรูปแนวทางการกำกับดูแลสื่อออนไลน์ การปฏิรูปการบริหารจัดการความปลอดภัยไซเบอร์ กิจการอวกาศ และระบบและเครื่องมือด้านการสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคมเพื่อสนับสนุนภารกิจการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย และการปฏิรูป ระบบการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารภาครัฐ .-สำนักข่าวไทย