กรุงเทพฯ 16 พ.ค. – ผู้ว่าฯ กฟผ.คนใหม่พบพนักงาน เดินหน้า 7 นโยบายหลัก ขอความร่วมมือพนักงานพัฒนารับนวัตกรรมโลกที่เปลี่ยนแปลง ยืนยันไม่ปลดพนักงานออก แม้จะปรับโครงสร้างใหม่ ย้ำให้คนในประเทศเห็นว่าการมี กฟผ.อยู่ต่อ ไม่ใช่ในวันที่ไม่มี กฟผ. อยู่แล้ว
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนที่ 14 แถลงนโยบายต่อผู้ปฏิบัติงานอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก วานนี้ (15 พ.ค.) โดยมี 7 นโยบายหลัก 1 ในนั้น คือ ยืนยันว่าไม่มีการปลดพนักงานแน่นอน โดยมีแผนปรับโครงสร้างและพัฒนาคน เนื่องจากภายใน 4 – 5 ปีข้างหน้าจะมีผู้เกษียณอายุกว่า 6,000 คน ดังนั้น จึงต้องมีการปรับตัว ปรับการทำงาน ปรับโครงสร้างให้มีความกระชับคล่องตัว ดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ กฟผ. ส่วนในอนาคตอาจมีการเปิดรับพนักงานเพิ่มในสาขาวิชาชีพที่มีความจำเป็น นอกจากนี้ ยังจะเร่งสร้างระบบสืบทอดตำแหน่ง (Successor) ทั้งตำแหน่งภายใน กฟผ. และบริษัทในกลุ่ม ทั้งยังจะยึดนโยบายเรื่องลดกระบวนการที่ไม่จำเป็น (LEAN) เพื่อให้งานขององค์การมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนอีก 6 ข้อ ได้แก่ การผลักดันงานโครงการที่ได้รับอนุมัติให้เป็นไปตามแผน แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2015 ให้สำเร็จ เช่น โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าทดแทน โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ระยะที่ 1 โรงไฟฟ้าบางปะกง เครื่องที่ 1 – 2, โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4 – 7 รวมถึงโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพา โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าภาคกลางและภาคใต้ ขนาด 500 เควี, การจัดหาเชื้อเพลิง LNG ไม่เกิน 1.5 ล้านตัน ในปี 2561, โครงการ FSRU 5 ล้านตัน/ปี ภายในปี 2567 ซึ่งจะช่วยแสดงศักยภาพของ กฟผ. ซึ่งจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่น และอาจจะสามารถต่อยอดไปถึงการที่ กฟผ.สามารถเข้าไปลงทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไป
สำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียน อาทิ โครงการโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. โครงการพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทาน โครงการชีวมวลประชารัฐวิสาหกิจ ช่วยแก้ไขปัญหาสายส่งที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ในบางพื้นที่ ส่วนจะมีการเพิ่มเติมสัดส่วนกำลังผลิตในโรงไฟฟ้าชนิดไหนอย่างไรต้องรอแผน PDP ฉบับใหม่ที่คาดว่าจะออกประมาณเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2561 การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนตั้งแต่ต้นทาง ควรมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ซึ่งเป็นเรื่องของสิทธิชุมชนที่ควรจะต้องรู้และรับทราบข้อมูลโครงการทั้งหมด ช่วยลดปัญหาการไม่ยอมรับการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ดังเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน, แสวงหาพันธมิตร เพื่อให้ กฟผ.เติบโตอย่างยั่งยืน ,การส่งเสริมนวัตกรรมเพื่ออนาคตสู่เวทีโลก เน้นที่การสร้างสิ่งประดิษฐ์และแนวคิดใหม่ โดยเฉพาะนวัตกรรมที่ กฟผ.คิดค้นมาได้ไปต่อยอดจากของเดิมหรือนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จแล้ว ไม่จำกัดการลงทุนเพียงแวดวงพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น, การสร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่ ได้แก่ การพัฒนาผลงานวิจัย สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่หรือตลาดใหม่ เพื่อต่อยอดธุรกิจของ กฟผ. รวมถึงการร่วมมือกับเอกชน โครงการประชารัฐ การขยายงานผ่านบริษัทในกลุ่ม กฟผ.
นอกจากนี้ การพัฒนา กฟผ.ก้าวสู่องค์การแห่งความภาคภูมิใจของประเทศให้คนในประเทศเห็นว่าควรมี กฟผ.อยู่ และต้องเห็นค่า กฟผ.ในวันนี้ ไม่ใช่ในวันที่ไม่มี กฟผ. อยู่แล้ว ดังนั้น กฟผ.ต้องแสดงให้เห็นว่า กฟผ.ต้องดำรงอยู่เพื่อความสุขของคนไทย และเป็นกลไกสำคัญของประเทศ โดยพนักงานทุกคนเป็นเสมือนผู้แทนภาพลักษณ์ กฟผ. ทุกคนจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นแก่สาธารณชนได้. – สำนักข่าวไทย