จุฬาฯ 16พ.ค.-ในเวทีวิชาการ นักวิชาการ-แพทย์-เภสัชกร ย้ำพิษพาราควอต เรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาเพื่อควบคุมสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิด‘พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอไพริฟอส”
ศูนย์วิชาการและพัฒนาระบบยาร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สภาเภสัชกรรมฯลฯ จัด เวทีวิชาการเพื่อให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนและประชาชน เรื่อง ”ข้อเท็จจริงทางวิชาการในการควบคุมสารเคมีอันตราย: พาราควอต,ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยวิทยากรต่างนำเสนอข้อมูลจากการวิจัยที่มีมานานนับ10 ปีทั้งของไทยและต่างประเทศถึงการมีพิษเฉียบพลันของสารเคมี ที่เป็นสารฆ่าหญ้ากำจัด ศัตรูพืชทั้ง3 ชนิดและมากกว่านั้น
รศ.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ อ้างอิงข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ถึงความเป็นพิษเฉียบพลันของพาราควอต ว่าสามารถส่งผลกระทบถึงชีวิต เข้าสู่ร่างกายทางปากทางผิวหนัง เช่นเดียวกับ ข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่พบอัตราการตายของผู้ป่วยในไทย ที่ได้รับสารพาราควอต สูงถึงร้อยละ46.18 จากผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษทุกชนิด ทั้งยัง ไม่มียาถอนพิษพาราควอตด้วย
ศ.นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงผลกระทบต่อสุขภาพของพาราควอตและไกลโฟเซต ว่ามีหลักฐานมากมายจากการติดตามผู้สัมผัสกับสารเคมีเหล่านี้ และเป็นการศึกษาในห้องปฏิบัติการระดับเซลล์และในระดับยีนพบตรงกันว่าสารเหล่านี้มีพิษในระยะยาวก่อให้เกิดโรคทางสมองที่รักษาไม่ได้ได้แก่โรคพาร์กินสัน และโรคสมองเสื่อมและอาจเกี่ยวพันกับมะเร็ง โดยส่วนตัวได้พบคนตายอย่างทรมานหลายรายที่พลาดสัมผัสสารเคมีนี้ที่ผิวหนัง หรือกิน โดยอุบัติเหตุและตายทรมานจากเนื้อปอดเป็นพังผืด ตับวาย และไตวาย
นอกจากนี้ภายในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาพบว่าโรคพาร์กินสันก่อกำเนิดได้ โดยมีความเชื่อมโยงกับลำไส้ อาจเกิดจากเชื้อโรคหรือสารพิษ สารเคมีทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ ในลำไส้ส่งผลให้เกิดการอักเสบทำให้ผนังกั้นหลอดเลือดในสมอง เปิดเป็นผลให้สารพิษสามารถทะลักเข้าไปได้ ซึ่งสารพิษอาจจะเข้าไปสู่เส้นประสาทและส่งต่อผ่านไปยังสมองส่วนต่าง ๆ จนเกิดโรคทางสมองขึ้น
ศ.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลนำเสนอผลงานวิจัย ที่ทำร่วมกับ อเมริกา พบพาราควอตและไกลโฟเซตสามารถผ่านจากมารดา ที่เป็นเกษตรกร สู่ตัวอ่อนในครรภ์ได้
รศ.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการและนวัตกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงข้อถกเถียงในการตรวจพบพาราควอตปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นที่ จ.น่าน จ.พิษณุโลก ว่าเกิดขึ้นได้ เนื่องจากพาราควอต เมื่อพ่นลงดินแล้วไม่ได้ เสื่อมฤทธิ์ทันที จะมีการดูดซับได้ดีในดิน เมื่อการใช้ซ้ำ ๆ ต่อเนื่องหลายปี หรือปริมาณมาก สารเคมีจะสะสม จนเกินสภาวะอิ่มตัวที่สาร อินทรีย์ในดินจะดูดซับได้ จะเกิดการคายซับ หรือการปลดปล่อยลงน้ำและสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคไม่สามารถขจัดสารตกค้างออกได้ด้วยการล้าง ส่งผลให้ผู้บริโภคและประชาชนทุกคนมีโอกาสได้รับสารเคมีเหล่านี้ไม่ต่างไปจากเกษตรกร
ผศ.นพดล กิตนะ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนองานวิจัยที่พบการปนเปื้อนสารพาราควอตในสัตว์เช่น กบ ปูนา หอยน้ำจืดและปลากะมัง ซึ่งถือเป็นสัญญาณเตือนภัยใกล้ตัวจากการใช้สารฆ่าวัชพืชที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆที่อาศัยในพื้นที่เกษตรรวมถึงมนุษย์
ในเวทีเสวนา ผศ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา เรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาเพื่อควบคุมสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิดนี้ โดยใช้ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งคณะผู้จัดการประชุมจะส่งหลักฐานทางวิชาการให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณายกเลิกพาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต ตามมติของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป ซึ่งในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้จะมีวาระการประชุมพิจารณาวัตถุอันตราย ของคณะกรรมการฯชุดนี้.-สำนักข่าวไทย