กฟผ.10 พ.ค. – กฟผ.เล็งพัฒนานวัตกรรมเข้าสู่เชิงพาณิชย์ รับเทคโนโลยีใหม่ที่เริ่มส่งผลกำไรหดประมาณร้อยละ 3-4 ต่อปี อดีตผู้ว่าฯ กฟผ.ชี้หากไม่ปรับตัวจะเป็นเพียง “หน่วยงานแห่งความทรงจำ”
กฟผ.ได้จัดงาน “EGAT INNOVATION SHOWCASE 2018” ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าเพื่อชีวิตที่ดีกว่า” โดยนำนวัตกรรมที่ กฟผ.พัฒนาขึ้นมาเองมาแสดง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และบางชิ้นยังคว้ารางวัลนวัตกรรมระดับโลกมาแล้วทั้งจากสวิตเซอร์แลนด์และจีน เช่น หุ่นยนต์ทำความสะอาดลูกถ้วยไฟฟ้า การพัฒนาซอฟต์แวร์ ลดความไม่เสถียรของระบบไฟฟ้า ซึ่งมักเกิดขึ้นกับสายส่งระยะไกล เป็นต้น
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ขณะนี้นวัตกรรม 71 ชิ้นได้จดสิทธิบัตรทางปัญญาแล้ว และ กฟผ.จะพัฒนาเพื่อสร้างรายได้ในอนาคตโดยเฉพาะการปรับปรุงระบบโรงไฟฟ้าและสายส่งให้ยืดหยุ่นพร้อมรับและเสริมระบบโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่กำลังมีบทบาทมากขึ้น เพราะปกติแล้วทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมง ดังนั้น เพื่อเสริมความมั่นคง กฟผ.ต้องลงทุนปรับระบบทั้งโรงไฟฟ้าและสายส่งรองรับในช่วงพลังงานทดแทนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ที่เรียกว่า Power System Flexibility และ Power System Flexibility
ทั้งนี้ นวัตกรรมที่ กฟผ.ตั้งเป้าหมายจะพัฒนามี 5 ด้าน ได้แก่ การหาแหล่งพลังงานใหม่, การปรับปรุงระบบผลิตไฟฟ้า, การดูแลด้านสิ่งแวดล้อม,การตอบแทนสังคมและชุมชนและการต่อยอดธุรกิจใหม่สร้างรายได้
นายวันชัย หงส์เชิดชัย รองผู้ว่าการบัญชีและการเงิน กฟผ. ยอมรับว่าจากที่ภาคเอกชนและประชาชนผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองมากขึ้นกระทบต่อรายได้ของ กฟผ. โดยจะเห็นว่ากำไรเริ่มลดลงประมาณร้อยละ 3-4 ต่อปีจากปกติมีกำไรประมาณ 30,000- 35,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งเกิดทั้งจากส่วนแบ่งตลาดการผลิตไฟฟ้าในระบบของ กฟผ. ลดน้อยลงเหลือกว่าร้อยละ 34 เท่านั้น ขณะที่การผลิตไฟฟ้าใช้เองของประชาชนและเอกชนหรือไอพีเอสก็มีสัดส่วนมากขึ้น โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ระบุว่าไอพีเอสมีกำลังผลิตถึงกว่า 3,000 เมกะวัตต์แล้ว
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ อดีตผู้ว่าการ กฟผ. ร่วมปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Innovation as a Solution for a Better Life” ว่า กฟผ.ต้องปรับตัวรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง หากไม่ปรับตัวก็คงจะเหลือเป็น “หน่วยงานแห่งความทรงจำ” เท่านั้น คล้ายกับ “โกดัก” ที่ได้รับผลกระทบจากกล้องดิจิดัล ซึ่ง Disruptive Technology เป็นทั้งบวกและลบ กฟผ.ต้องปรับรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
นายกรศิษฎ์ กล่าวด้วยว่า กำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนขณะนี้มีเกือบ 10,000 เมกะวัตต์ แนวโน้มจะมีมากขึ้น ตนในสมัยดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กฟผ.จึงเสนอกระทรวงพลังงานปรับแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาวหรือพีดีพี เพื่อรับมือพลังงานทดแทนที่จะมีผลต่อระบบไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งนี้ เงินอุดหนุนพลังทดแทนจากระบบค่าไฟฟ้าของประเทศไทยตั้งแต่เริ่มจนถึง สิ้นปี 2560 นั้นมีประมาณ 130,000 ล้านบาท. – สำนักข่าวไทย