บุรีรัมย์ 7 พ.ค. – รมว.คลังกำชับ ธ.ก.ส.-ออมสิน ติดตามผลพัฒนาอาชีพบัตรสวัสดิการ ตั้งเป้ามีรายได้ หลุดพ้นจากความยากจนร้อยละ 20
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายวิสุทธิ์ ศรีสุทธิพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ผู้บริหารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน เพื่อประชุมมอบนโยบายติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการรัฐ จังหวัดบุรีรัมย์ หลังจากผู้มีรายได้น้อยต้องการพัฒนาอาชีพตนเอง 6.4 ล้านคน และ ครม.ขยายเวลาสัมภาษณ์ชาวบ้านให้เสร็จภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อกำหนดเมนูพัฒนาอาชีพเสริม และเพิ่มความรู้อาชีพเดิม และยังมุ่งแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อให้ประนอมหนี้ผ่าน ธ.ก.ส.และธนาคารออมสินผ่านเงินกู้ฉูกเฉิน ทั้งนี้ ยอมรับว่าแม้เศรษฐกิจภาพรวมเติบโตดีขึ้น แต่ชาวบ้านยังไม่รู้สึกว่าซื้อง่ายจ่ายคล่อง จึงต้องการให้ชาวบ้านมีรายได้หลุดพ้นความยากจนให้ได้ร้อยละ 20 กระทรวงการคลังจึงกำชับ ธ.ก.ส.และออมสิน ดูแลการพัฒนาอาชีพที่เตรียมไว้ เพื่อรายงานความคืบหน้าประจำทุกเดือนต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้
ขณะที่ ธ.ก.ส.ดูแลรับผิดชอบในส่วนของเกษตรกรมีชาวบ้านแสดงความประสงค์เข้าร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตทั่วประเทศ 4.08 ล้านราย ได้ร่วมกับทีมหมอประชารัฐสุขใจสัมภาษณ์ผู้มีรายได้น้อย 3.05 ล้านราย เพื่อจัดทำเมนูพัฒนาอาชีพ ในส่วนของพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ มีเกษตรกรร่วมโครงการ 147,180 ราย เตรียมเชื่อมโยงกับสหกรณ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพ รวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกษตร เพื่อเป็นหัวขบวนในการรับซื้อผลผลิต การจ้างแรงงาน และสร้างโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยได้ประกอบอาชีพ สร้างรายได้ เช่น สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. จังหวัดบุรีรัมย์ รับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิก ในราคานำตลาด ปีละกว่า 27,000 ตัน เพื่อนำมาแปรรูปเป็นข้าวสารจำหน่ายภายใต้แบรนด์ A-Rice ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตและรายได้แก่เกษตรกรสมาชิกแสงจันทร์ Shine ผู้ผลิตและรวบรวมผักผลไม้ปลอดสารพิษและพืชผักพื้นบ้านเพื่อจำหน่ายในตลาด Modern Trade โดยมีเกษตรกรสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการกว่า 300 ครัวเรือน และชุมชนบ้านสนวนนอก ชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ต้นแบบการใช้วิถีชีวิตพอเพียง ที่นำวัฒนธรรมท้องถิ่นมาเป็นจุดขาย ช่วยสร้างอาชีพและรายได้สู่ชุมชน ซึ่งทั้งหมดได้นำมาจัดแสดงในงานครั้งนี้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้มีรายได้น้อยให้ลุกขึ้นมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง
สำหรับผลการลดภาระหนี้สินดำเนินการไปแล้ว 649,967 ราย จำนวน 130,466 ล้านบาท จ่ายสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน มีเกษตรกรแจ้งความประสงค์ 371,364 ราย จ่ายสินเชื่อไปแล้ว 108,626 ราย จำนวน 5,141 ล้านบาท มาตรการพัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ได้แก่ โครงการสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อพัฒนาอาชีพ (XYZ) มีเกษตรกรแจ้งความประสงค์ 118,114 ราย โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาอาชีพผู้มีรายได้น้อยมีเกษตรกรแจ้งความประสงค์ 448,359 ราย มาตรการพัฒนาตนเอง ได้แก่ โครงการให้ความรู้ทางการเงิน แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการ 1,619,096 ราย โครงการส่งเสริมการออม ผ่านเงินฝากกองทุนทวีสุข 472,216 ราย เป็นเงิน 2,529 ล้านบาท การช่วยเหลือเกษตรกร.- สำนักข่าวไทย