สุรินทร์-บุรีรัมย์ 7 พ.ค. – รมว.อุตฯ-ปลัดอุตฯ ลงพื้นที่ จ.สุรินทร์-บุรีรัมย์ หารือภาคเอกชน ชงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เยี่ยมชมโรงงานน้ำตาลและเอสเอ็มอี ดันธุรกิจคนตัวเล็กให้โตต่อเนื่อง
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการ ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2561 ณ จังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์ ส่วนราชการที่อยู่ในภูมิภาคได้จัดประชุมหารือกับเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 คือ จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา และชัยภูมิ ภายใต้แนวคิด “การสร้างรายได้ ขยายโอกาส เสริมเศรษฐกิจฐานราก” ซึ่งนอกจากจะเน้นช่วยแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจด้วยการรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนไปพิจารณาดำเนินแล้ว ยังมีโครงการและสิ่งที่กระทรวงฯ จะเข้าไปช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของจังหวัดเพื่อจะได้เป็นการสร้างงานสร้างรายได้ที่มีความยั่งยืน รวมทั้งการเสนอมาตรการ กลไก เครื่องมือที่กระทรวงฯ มีในจังหวัด เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับทราบและมาใช้บริการเพิ่มขึ้น เช่น ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม ITC การพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ CIV การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และการสนับสนุนเงินทุนต่างๆ และมีหน่วยม้าเร็วของ Sme Devolopment Bank ซึ่งเข้าถึงชุมชน
ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์ มีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ 1.การฟื้นฟูและพัฒนาเหมืองแร่ โดยนำเหมืองเก่าที่ได้เลิกกิจการแล้ว มาฟื้นฟูเป็นอ่างเก็บน้ำ พร้อมทั้งปรับปรุงทัศนียภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ หรือสุรินทร์โมเดล ในระยะแรกจะดำเนินการในพื้นที่ 27 ไร่ จุน้ำ 600,000 ลบ.ม. ซึ่งโครงการนี้จะเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ในการช่วยกันพัฒนาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม 2.โครงการ Inland Container Depot (ICD) ใน จ.นครราชสีมา ที่กระทรวงฯ จะช่วยต่อยอดได้ เช่น พัฒนาเป็นเขตประกอบการโกดังการซ่อมตู้คอนเทนเนอร์และโครงการด้านโลจิสติกส์อุตสาหกรรม และ 3.โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุปกรณ์ประดับยนต์ (motor Sport) ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพราะมีสนามแข่งรถมาตรฐานระดับโลก และมีการนำรถเข้ามาแข่งในพื้นที่จำนวนมาก ประกอบกับเอสเอ็มอีไทยมีความสามารถผลิตอุปกรณ์ประดับยนต์ส่งออกไปยังต่างประเทศหลายประเทศ โดยมีมูลค่าการผลิตกว่า 50,000 ล้านบาท นอกจากนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV มีการขยายตัวด้านยานยนต์ในกลุ่มประเทศดังกล่าว ผนวกกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย ทำให้อุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ ทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ เติบโตขึ้นตามไปด้วย และจ.บุรีรัมย์ ได้มองเห็นถึงโอกาสในการจัดตั้งนิคมฯ อุตสาหกรรมประดับตบแต่งยานยนต์ในลักษณะนิคมฯ ร่วมดำเนินการ ที่กระทรวงฯ พร้อมจะผลักดันต่อหากมีนักลงทุน และมีพื้นที่นิคมฯ แล้ว และเห็นว่า จ.บุรีรัมย์ มีตลาดที่ใหญ่พอ ส่วนจะมุ่งเน้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์ใด ต้องมีการสำรวจความเป็นไปได้อีกครั้งหนึ่ง
ส่วนมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการเหมืองหินและโรงโม่หิน ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีประทานบัตรที่กำลังจะสิ้นอายุ ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการเร่งผลิตเพื่อทำการสต็อกแร่สำหรับการจำหน่าย หรือประกอบธุรกิจในช่วงที่อยู่ระหว่างการต่ออายปุระทานบัตรแล้วยื่นขอครอบครองแร่ไว้ก่อน นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะผลักดันเสนอแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฯ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบภายในเดือนพฤษภาคมนี้
ทั้งนี้ นายอุตตม ยังได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ และศูนย์วิจัยและพัฒนาอ้อย โรงเรียนสอนชาวไร่อ้อย ซึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 มีพื้นที่ปลูกอ้อย 1.7 ล้านไร่ มีผลผลิต 21.6 ตันต่อปี โดยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานในการบริหารจัดการไร่อ้อย ต้นทุนค่าแรงสูง และยังขาดประสิทธิภาพการผลิต กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จึงมีแผนขยายโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ออกไปอีก 3 ปี (พ.ศ. 2562 – 2564) วงเงินปีละ 2,000 ล้านบาท เพื่อให้สินเชื่อแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการไร่อ้อยสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะ เพื่อมุ่งสู่ 4.0 กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ ให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยภาคอีสานที่ยังไม่สามารถตัดอ้อยได้ทันก่อนการปิดหีบอ้อย โดยให้เลื่อนกำหนดระยะปิดหีบอ้อยออกไปในเดือนพฤษภาคม 2561 เพื่อพยายามรับซื้ออ้อยจากชาวไร่อ้อยทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่ภาคอีสานมีอ้อยคงเหลือประมาณ 2 ล้านตัน หากชาวไร่อ้อยไม่สามารถตัดอ้อยได้ทันอาจจะทำให้เกิดอ้อยค้างไร่และชาวไร่อ้อยขาดรายได้
ด้านนายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่หมู่บ้าน CIV องค์การบริหารส่วนตำบลสวาย ที่โดดเด่นเรื่องตลาดผ้าไหมใต้ถุนเรือน กระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งมอบบรรจุภัณฑ์ที่ได้ออกแบบให้เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และตรวจเยี่ยมพงษ์พันธ์ฟาร์มจิ้งหรีด อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ขอความช่วยเหลือผ่านศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี ด้านเงินทุน และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) อนุมัติสินเชื่อ Micro SME แล้ว 200,000 บาท และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมพื้นที่ภาค 6 ได้เข้าไปแนะนำในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์ รวมทั้งการบริหารจัดการการตลาดและระบบบัญชี เนื่องจากพงษ์พันธ์ฟาร์มจิ้งหรีด มีความต้องการจะแปรรูปเป็นแมลงทอด และพัฒนาเป็นอาหารเสริมในอนาคต และเฉาก๊วยโกโบริ ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพอีกรายที่ขยายแฟรนไชส์ในไทยกว่า 800 ราย และประเทศเพื่อนบ้าน ไปยังลาวและกัมพูชา รวมกว่า 600 รายได้รับเงินกองทุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 3 ล้านบาทในการสร้างโรงงานใหม่ ทั้ง 2รายเป็นตัวอย่างของคนตัวเล็กที่กระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปช่วยส่งเสริมพัฒนาให้โตอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ยังลงพื้นที่หมู่บ้าน CIV บ้านเจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งมีความโดดเด่นด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้าไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าภูอัคนี (ย้อมจากดินภูเขาไฟที่ดับแล้ว)ให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยเป้าหมายของ CIV คือ หมู่บ้านและเอสเอ็มอีเกษตรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ภายใน 1 ปี
สำหรับแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2561-2564) มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการขับเคลื่อนศูนย์กลางเกษตรอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ไหม ท่องเที่ยวอารยธรรม และการค้าชายแดน โดยจะพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันเกษตรอุตสาหกรรมและแปรรูป ยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์ไหม และการส่งเสริมและพัฒนาการค้าการลงทุน และการค้าชายแดน ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมมีแนวทางในการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนควบคู่กับการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งมีเครื่องมือทางการเงิน 4 ประเภท คือ กองทุนพัฒนาศักยภาพฯ 10,000 ล้านบาท กองทุนฯ คนตัวเล็ก 8,000 ล้านบาท สินเชื่อ Local Economy Loan และสินเชื่อ Transformation Loan ในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ซึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ได้มีการอนุมัติสินเชื่อกองทุนฯ ไปแล้วทั้งหมด 34 ราย วงเงิน 86 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย