ยธ.4พ.ค.- ก.ยุติธรรม เร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ….ของคนเพศเดียวกัน เบื้องต้นวางนิยามรูปแบบครอบครัว เพื่อกำหนดสิทธิตามกฎหมาย ตั้งเป้าบังคับใช้ปลายปีนี้หรืออย่างช้าต้นปีหน้า
นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. … ซึ่งกระทรวงยุติธรรมมีแนวคิดยกร่างมาตั้งแต่ปี 2556 ต่อมาคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเห็นชอบในหลักการ แต่มีข้อเสนอให้ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายของต่างประเทศ ระบบการจดทะเบียนสมรส ตลอด จนพูดคุยกับองค์กรทางศาสนา ซึ่งอาจจะมีความเห็นแย้ง โดยการร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของกลุ่มหลากหลายทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ ที่มีผลบังคับใช้ระหว่างปี 2557-2561
นายเกิดโชค กล่าวว่า การประชุมวันนี้จะมีข้อยุติถึงรูปแบบของการตั้งครอบครัวของกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ ซึ่งแนวโน้มอาจใช้รูปแบบของประเทศฝรั่งเศส เริ่มจากการเป็นหุ้นส่วนชีวิต ก่อนพัฒนาเป็นคู่ชีวิตเพื่อให้สังคมมีโอกาสเรียนรู้ ปรับตัวทำความเข้าใจก่อนพัฒนาไปสู่การแต่งงานของกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ แม้ในวันนี้สังคมไทยยอมรับการมีอยู่ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ แต่ในทางกฎหมายยังไม่รับรองสิทธิ์ของกลุ่มคนเหล่านี้
หลังจากนี้คณะกรรมการจะประชุมต่อเนื่อง โดยวางกรอบระยะเวลาให้กฎหมายฉบับนี้ควรจะแล้วเสร็จมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปี 2561 หรือต้นปี 2562
ด้านนายวิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้กระแสระหว่างประเทศยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการแต่งงานในเพศเดียวกัน ที่ผ่านมาเคยมีคดีขึ้นสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ ซึ่งมีข้อตัดสินว่าไม่รับจดทะเบียนสมรสให้กับคนเพศเดียวกัน แต่ประมาณ 50 ประเทศทั่วโลกมีกฎหมายเปิดให้มีการจดทะเบียนคู่ชีวิตหรือการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน เช่น อเมริกา แคนนาดา ออสเตรียและประเทศในโซนยุโรป
สำหรับทวีปอเมริกาใต้ ศาลสิทธิมนุษยชนมีคำตัดสินให้รัฐต้องจดทะเบียนสมรสให้กับคนเพศเดียวกัน โดยคำตัดสินดังกล่าวมีผลครอบคลุมทุกประเทศในอเมริกาใต้ ส่วนในทวีปเอเชียยอมให้มีการแต่งงานของคนเพศเดียวกันที่ไต้หวัน ส่วนไทยและเวียดนามอยู่ระหว่างริเริ่มยกร่างกฎหมายให้มีการจดทะเบียนคู่ชีวิต
นายวิทิต กล่าวอีกว่า แนวโน้มของประเทศไทยมีทิศทางเริ่มต้นด้วยการจดทะเบียนคู่ชีวิตมากกว่าก้าวกระโดดไปแก้กฎหมายให้มีการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน ซึ่งการริเริ่มจากการเป็นหุ้นส่วนชีวิต หรือคู่ชีวิตจะไม่มีประเด็นทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องมากนักเพราะไม่ใช่การแต่งงานเพื่อมีบุตร อย่างไรก็ตาม ในการยกร่างกฎหมายควรจะวางแนวทางให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาให้หน่วยปฏิบัติต่างๆ ต้องมายื่นตีความ.-สำนักข่าวไทย