กทม. 1 พ.ค. – วันนี้เป็นวันแรกที่ประกาศใช้สัญญาธุรกิจให้เช่าอาคารฉบับใหม่ ต้องเรียกเก็บค่าน้ำค่าไฟตามจริง วันนี้ทีมข่าวได้ลงพื้นที่พบว่าหลายหอพักยังไม่ปรับลดราคา หากไม่เปลี่ยนแปลงสัญญาตามกฎหมายกำหนด สคบ.เอาจริง
วันนี้เป็นวันแรกที่ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องธุรกิจให้เช่าอาคารที่อยู่อาศัยเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้ หลังออกประกาศมาตั้งแต่ 16 ก.พ. ให้เจ้าของหอพัก อพาร์ตเมนต์ ต้องเปลี่ยนแปลงสัญญาเช่าตามที่กฎหมายกำหนด แสดงทุกรายละเอียดของค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บ สาระสำคัญของการประกาศนี้ เหมารวมถึงค่าน้ำ ค่าไฟ ต้องเป็นไปตามที่การไฟฟ้าหรือการประปา เรียกเก็บจริง สคบ.ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันอัตราค่าน้ำของหอพักไม่เกิน 10 บาทต่อหน่วย ส่วนอัตราค่าไฟ อยู่ที่ 4-5 บาทต่อหน่วย หากเกินนี้อาจเข้าข่ายความผิด ผู้เช่าสามารถตรวจสอบอัตราเรียกเก็บจริงจากผู้ให้บริการ
จากการสำรวจหอพักใจกลางเมืองที่มีอัตราการเช่า 5,000-6,000 บาท พบว่าจะเรียกเก็บค่าน้ำอยู่ที่ 15-20 บาทต่อหน่วย ค่าไฟอยู่ที่ 8-9 บาทต่อหน่วย สูงเกือบเท่าตัว โดยให้เหตุผลว่าเป็นค่าบริการเสริมส่วนอื่นๆ บางแห่งเริ่มปรับลดอัตราตามจริงแล้ว
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า หลังมีประกาศฉบับนี้ แม้ผู้เช่าจะยอมเปลี่ยนสัญญาเรียกเก็บตามจริง แต่ช่วงหลังเมษายนเป็นต้นมา กลับพบมีค่าส่วนกลางเพิ่มขึ้นในสัญญาเช่าซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค สถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2558-2560 ด้านอสังหารัมทรัพย์ ถึง 238 ราย เป็นปัญหาธุรกิจห้องเช่า และค่าน้ำค่าไฟ ถึงร้อยละ 15
ทีมข่าวมีโอกาสพูดคุยกับผู้เช่ารายหนึ่งย่านรัชดา ยอมรับว่าหลังติดตามประกาสฉบับนี้มาสักระยะ และมีผลบังคับใช้วันนี้ ทางเจ้าของหอพักยังไม่มีท่าทีหรือเรียกผู้เช่าพุดคุยเปลี่ยนแปลงสัญญา หากปรับลดตามความเป็นจริง จะช่วยเรื่องค่าครองชีพได้อย่างมาก ปัจจุบันแบกรับภาระค่าเช่าอยู่ราว 4,000 บาทต่อเดือนและค่าน้ำค่าไฟอีกกว่า 3,000 บาท
หลังจากนี้ สคบ.จะเริ่มทยอยลงสุ่มตรวจ หากไม่ควบคุมสัญญาเช่าตามที่ประกาศกำหนด ถือว่ามีความผิด จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอยากให้ผู้เช่าติดตามสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้เพื่อช่วยลดภาระผู้เช่าได้มาก และวันนี้ที่ สคบ.มีเจ้าของหอพักหลายรายเดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ตลอดทั้งวัน เนื่องจากไม่เข้าใจบางประการในกฎหมายฉบับนี้ แม้ยืนยันจะทำตาม แต่อาจขอขึ้นค่าบริการเสริมบางประการที่กฎหมายไม่ได้ระบุไว้ เช่น ค่าไฟส่องสว่างริมทางเดิน ค่าทำความสะอาด ซึ่งปกติคิดรวมอยู่ในค่าน้ำค่าไฟแล้ว. – สำนักข่าวไทย