กรุงเทพฯ 1 พ.ค.- ผลสำรวจแรงงานไทยปีนี้ พบว่า ความในใจแรงงานไทย ระบุค่าแรงแต่ละวันยังไม่พอใช้ ยังต้องกู้ยืม กังวลด้วยว่าข้าวของจะแพงขึ้น ขณะที่ยังจะหางานในเมืองหลวงทำเพราะสวัสดิการดีกว่า แม้จะขึ้นค่าแรงทั่วประเทศก็ตาม
ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ความในใจของแรงงานไทย 4.0” ของศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือ กรุงเทพโพลล์ พบว่าผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ 64.3% รู้ว่ามีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ขณะที่ 35.7% กลับยังไม่ทราบ เมื่อถามต่อว่า ได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้นตามที่มีการปรับขึ้นหรือไม่ 59.6% บอกว่าได้รับแล้ว ส่วน 40.4% บอกยังไม่ได้รับ ผลสำรวจระบุว่าผู้ใช้แรงงาน 52.7% มีความสุขกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2 ปีติดต่อกัน และอยากให้ขึ้นแบบนี้ทุกๆ ปี ถึง 35.7%
แต่ถ้าถามว่าค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับในแต่ละวันเพียงพอกับค่าใช้จ่ายหรือไม่ ผู้ใช้แรงงาน 39.9% บอกว่าไม่เพียงพอ ต้องกู้ยืมมาเพิ่ม ขณะที่ 29.2% บอกว่าพอดีกับค่าใช้จ่ายแต่ไม่เหลือเงินเพื่อเก็บออม ส่วนข้อกังวลหลังจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ พบว่า ส่วนใหญ่กังวลว่าข้าวของจะราคาแพงขึ้นถึง 85.5% รองลงมา 25.1% กังวลว่าค่าแรงขั้นต่ำจะยังไม่ขึ้นอีกหลายปี และกังวลว่าแรงงานต่างด้าวเข้ามาแย่งงาน 19.8%
ทั้งนี้ การขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำทั่วประเทศ จะทำให้อยากกลับบ้านเกิดไปทำงานหรือไม่ ส่วนใหญ่ 62.3% อยากกลับ ขณะที่กลุ่มที่ไม่อยากกลับ บอกเหตุผลว่างานในเมืองหลวงมีสวัสดิการดีกว่า 43.4% รองลงมาคือที่บ้านเกิดมีงานให้เลือกน้อย ข้อสุดท้าย เมื่อถามว่าอยากบอกอะไรกับนายจ้างมากที่สุด คำตอบคือ อยากให้เพิ่มเงินรายวันให้มากขึ้นถึง 35.0% รองลงมาคืออยากให้เพิ่มสวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล และอยากให้มีงานจ้างทุกวัน.-สำนักข่าวไทย