กรุงเทพฯ 26 เม.ย. – สนพ.เผยเตรียมเรียกผู้ค้าน้ำมันหารืองดให้ข่าวก่อนปรับราคา แจงสะท้อนภาวะการแข่งขันที่เป็นธรรม ด้านวงงานพลังงาน งง ชี้การแจ้งราคาล่วงหน้าเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวย การสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เตรียมเชิญผู้ค้าน้ำมันหารือเกี่ยวกับสภาวการณ์แข่งขันในธุรกิจขายปลีกน้ำมันโดยเฉพาะประเด็นการแจ้งข่าวล่วงหน้าในการปรับเพิ่มหรือลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงหรือการมีข้อสังเกตว่ากรณีที่ผู้ค้าน้ำมันตั้งแต่ 2 รายขึ้นไปปรับราคาในอัตราที่เท่ากันในเวลาเดียวกันอาจเข้าข่ายการกระทำผิดที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของนโยบายการส่งเสริมการแข่งขัน
รวมทั้งอาจจะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งกระทรวงพลังงานจึงได้ขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันทุกรายที่จะไม่ให้ข่าวผ่านสื่อช่องต่าง ๆ ก่อนที่จะมีการปรับราคา รวมทั้งขอความร่วมมือกระทรวงพาณิชย์ในการติดตามตรวจสอบและป้องปรามการกระทำลักษณะนี้ เพื่อให้กลไกในธุรกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงสะท้อนภาวะการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องการปรับราคาของ 2 ค่ายยักษ์ใหญ่สุด คือ ปตท.และบางจากฯ ที่ปรับราคาพร้อมกันในราคาที่เท่ากัน โดยก่อนปรับราคาดังกล่าวทั้ง 2 รายได้แจ้งทางสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งเอสเอ็มเอสแก่ผู้สื่อข่าว การแจ้งทางสมาชิกไลน์ เฟซบุ๊ก ซึ่งการประกาศราคาล่วงหน้าอาจเป็นการชี้นำตลาดก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงราคาไปในทิศทางเดียวกันและไม่เกิดการแข่งขันกันลดราคาหน้าปั๊ม อย่างไรก็ตาม เชลล์ ก็เป็นผู้ค้าอีกรายที่มีการประกาศการเปลี่ยนแปลงราคาล่วงหน้าผ่านสมาชิกไลน์ แต่ไม่ได้ประกาศในเวลาใกล้เคียงกับ ปตท.และบางจากฯ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รู้สึกงงกับนโยบายของนายศิริ หากเป็นผู้สั่งการจริง ยุคนี้เป็นยุคข่าวสารเสรี การสั่งห้ามให้ข่าวการปรับราคาล่างหน้าเป็นการหลงประเด็นกันไปใหญ่ ราคาน้ำมันของไทยอิงตามหลังสิงคโปร์ 2-3 วัน การแจ้งล่วงหน้าก็เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคให้ ตัดสินใจว่าจะเติมน้ำมันหรือไม่ และในแง่ของการแข่งขัน หาก 2 รายแจ้งปรับราคาแล้ว ผู้ค้ารายอื่นก็ต้องตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนแปลงราคาอย่างไร หากลดราคาตามก็ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค
“ยุคนี้เป็นยุคข้อมูลข่าวสารโซเชียลมีเดีย ไม่รู้ว่านายศิริ ย้อนยุคกลับไปยุคคุมราคาน้ำมันเมื่อกว่า 40 ปีก่อนหรือไม่ ซึ่งช่วงแรกก็ชื่นชมนายศิริ ในฐานะนักวิชาการด้านพลังงาน แต่ภายหลังเห็นนโยบายที่ไม่น่าจะออกมาได้ก็ประกาศออกมา เช่น การไม่ซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนถึง 5 ปี ยิ่งเรื่องการไม่ให้ข่าวปรับราคาน้ำมันยิ่งเป็นงง” นายพิชัย กล่าว
นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ต้องถามกระทรวงพลังงานก่อนว่าปัจจุบันผู้ค้าน้ำมันทำผิดอะไร ในเรื่องการประกาศราคาล่วงหน้า หากผิดกฎหมายแข่งขันทางการค้าว่าการประกาศราคาขึ้นลงเป็นการชี้นำผู้ค้ารายอื่น ดูแล้วก็ไม่น่าจะใช่ แม้บางจาก ปตท.จะมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดก็ตาม และหากดูกฎหมายรวม ๆ แล้ว ก็ไม่รู้ว่ารัฐ โดยเฉพาะกระทรวงพลังงานจะใช้กฎหมายอะไรมาบังคับได้ ซึ่งหากจะใช้ได้ก็มีอำนาจของนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช.ใช้ ม.44 เท่านั้น แต่เรื่องนี้ก็ไม่น่าจะถึงขั้นใช้ ม.44
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า แนวทางของ สนพ.นี้ ถือว่าทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือกในการเติมน้ำมัน เพราะหากไม่ทราบข้อมูลล่วงหน้าชาวบ้านก็ไม่มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่าจะเลือกบริโภคจากปั๊มใด ยิ่งหากปิดบังข้อมูล ยิ่งเป็นการผลักดัน หรือเอื้อให้กับผู้ค้ารายใหญ่หรือไม่ กระทรวงพลังงานควรคิดให้รอบคอบ นอกจากนี้ การดูแลเรื่องกฎหมายแข่งขันทางการค้านั้น ก็เป็นเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์ดูแล
นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานน่าจะเอาเวลาไปทำเรื่องอื่นที่น่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า เพราะการที่ประชาชนได้รับรับรู้ข่าวสารการปรับราคาก่อนเป็นการเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากกว่า เพราะช่วงเวลาราคาขึ้นชาวบ้านก็ได้ไปเติมก่อน ส่วนช่วงราคาลดลง ชาวบ้านก็ไปเติมวันรุ่งขึ้น ผลประโยชน์ตรงนี้ก็ควรให้ประชาชนบ้าง น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าการปิดข้อมูล.-สำนักข่าวไทย