กรุงเทพฯ 26 เม.ย. – ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจพบแรงงานไทยร้อยละ 96 เป็นหนี้สูงสุดในรอบ 10 ปี นับจากปี 2552
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยสถานภาพแรงงานไทยกรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท โดยสำรวจ 1,194 ตัวอย่างในเดือนเมษายน พบว่า เศรษฐกิจของแรงงานเริ่มฟื้นและเปราะบางมาก โดยแรงงานไทยมีภาระการเลี้ยงดู 1 หารายได้ 1 คน มีภาระเลี้ยงดู 1 คน
ด้านภาระหนี้แรงงานไทยพบว่ามีภาระหนี้สูงสุดในการสำรวจรอบ 10 ปี นับจากปี 2552 โดยมีภาระหนี้คิดเป็นร้อยละ 96 ของแรงงานที่ทำการสำรวจ ส่วนแรงงานที่ไม่มีภาระหนี้มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาระหนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 36.1 เกิดจากการใช้จ่ายประจำวัน รองลงมา คือ หนี้ผ่อนชำระยานพาหนะคิดเป็นร้อยละ 24.9 หนี้จากการลงทุนร้อยละ 13.6 หนี้ที่เกิดจากที่อยู่อาศัยร้อยละ 10.8 ใช้คืนเงินกู้ร้อยละ 7.2 ค่ารักษาพยาบาลร้อยละ 6.7 อื่น ๆ ร้อยละ 0.7 โดยภาพรวมภาระหนี้ครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 137,988.21 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 5,326 บาท แบ่งเป็นหนี้ในระบบคิดเป็นร้อยละ 65.4 ผ่อนชำระต่อเดือน 5,719.97 บาท และหนี้นอกระบบคิดเป็นร้อยละ 34.6 ผ่อนชำระต่อเดือน 4,761.12 บาท
ส่วนปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 85.4 เคยมีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ สาเหตุหลักมาจากรายได้ลดลงคิดเป็นร้อยละ 37.7 รองลงมา คือ ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นร้อยละ 25.1 ราคาสินค้าแพงขึ้นร้อยละ 15.6 ภาระหนี้สินมากขึ้น ร้อยละ 10.2 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น ร้อยละ 7.7 และเศรษฐกิจไม่ดี ร้อยละ 3.6 สำหรับปัญหารายได้ไม่พอค่าใช้จ่ายนั้น พบว่า แรงงานร้อยละ 68.5 มีปัญหานี้ อีกร้อยละ 31.5 ไม่มีปัญหา ด้านพฤติกรรมการใช้จ่ายเมื่อเทียบกับรายได้ที่ได้รับ พบว่า ร้อยละ 58.1 ใช้จ่ายเท่ากับรายได้ ใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ร้อยละ 24.9 และใช้จ่ายมากกว่ารายได้ร้อยละ 17 ด้านการออมปัจจุบันของแรงงาน ส่วนใหญ่ร้อยละ 58.6 ไม่มีการออมเงิน มีการออมเงินร้อยละ 41.4 และการออมที่ควรอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 10 ของรายได้ แต่ขณะนี้สามารถออมเพียงได้เพียงร้อยละ 8.3 ของรายได้ ดังนั้น ปีนี้เป็นปีของการใช้เงิน และเงินไม่พอเก็บ ส่วนใหญ่ใช้เงินแบบเดือนชนเดือน
สำหรับกิจกรรมในช่วงวันหยุดวันแรงงานปีนี้ มูลค่าการใช้จ่ายสูงสุดในรอบ 9 ปีนับจากปี 2553 โดยประเมินว่าจะมีการใช้จ่ายเงินรวม 2,193 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.7 จากปีที่ผ่านมา ซึ่งปีนี้แรงงานตั้งใจใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทัศนะทั่วไปของแรงงานไทยในปัจจุบัน ด้านรายได้ค่าจ้างปัจจุบัน เห็นว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเดือนเมษายนนี้ พอใจปานกลาง โดยร้อยละ 63.3 เห็นว่าช่วยให้หนี้ปัจจุบันลดลง ทั้งนี้ ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือหรือดำเนินการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทุกปี ลดปัญหาการว่างงาน ช่วยเหลือผู้ว่างงาน ควบคุมราคาสินค้า และดูแลค่าครองชีพ แก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว การดูแลประกันสังคมในเรื่องค่ารักษาพยาบาล ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และดูแลควบคุมหนี้สินนอกระบบ
นายธนวรรธน์ เสนอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยทำให้เกิดการจ้างงานและเกิดการซื้อของลงทุนกระจายออกไปส่วนภูมิภาคมากขึ้น เพราะแม้การก่อสร้างเริ่มลงไปแล้ว แต่เม็ดเงินยังกระจุกอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่ที่รับงานจากภาครัฐ จึงมีโอกาสสุ่มเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมตลอดปีนี้ได้ และเชื่อว่าการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นจะเกิดครึ่งปีหลังและน่าเป็นมีเม็ดเงินที่ช่วยเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้โต ซึ่งศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตได้ร้อยละ 4.2-4.6. -สำนักข่าวไทย