สำนักงานกกต.30 ก.ย.-กกต.แถลงแนวทางเลือกส.ว. แบบไขว้ในระดับ อำเภอ-จังหวัด-ประเทศ มั่นใจป้องกันการฮั๊ว-การเมืองแทรก เตรียมส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ให้ กรธ.วันนี้
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกรรมการการเลือกตั้ง( กกต.) แถลงสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสมาชิก(ส.ว.) ที่กกต.จะส่งให้กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในวันนี้(30 ก.ย.) ว่า มีทั้งหมด 100 มาตรา 3 หมวด กำหนดให้ส.ว.มีจำนวน 200 คน มาจากการเลือกกันเอง 20 กลุ่ม กระบวนการได้มาทั้งหมดไม่เกิน 60 วัน นับตั้งแต่มีพ.ร.ฎ.ประกาศเกี่ยวกับการได้มาซึ่ง ส.ว. โดยขั้นตอนหลังจากที่มีพ.ร.ฎ.ให้มีการได้มาซึ่ง ส.ว.แล้ว
“จากนั้นภายใน 5 วัน กกต.จะกำหนดวัน-เวลารับสมัครส.ว.ทั้งในระดับอำเภอ จังหวัดและระดับประเทศ โดยให้เริ่มเปิดสมัครไม่เกิน 10 วันนับแต่วันที่พ.ร.ฎ.มีผลใช้บังคับ และเปิดรับสมัครไม่น้อยกว่า 5 วัน ในการสมัครให้ยื่นหลักฐานแสดงถึงความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ และต้องเป็นสมาชิกหรือทำงานหรือเคยทำงานในกลุ่มด้านที่สมัครเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ยกเว้นบางกลุ่มที่เป็นโดยสถานะ เช่นกลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้สูงอายุ” พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าว
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ส่วนการสมัครเพื่อเลือกกันเองให้เป็น ส.ว.นั้น ผู้มีสิทธิสมัครจะสมัครได้เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กรณียื่นสมัครโดยฝ่าฝืน หรือ คุณสมบัติไม่ตรง ให้ กกต. ถอนชื่อออกจากประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือก หากพบเหตุภายหลังประกาศผลให้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า การเลือกในระดับอำเภอดำเนินการเป็น 2 ขั้นตอน ใช้เวลา 15 วัน คือ 1. การเลือกเพื่อคัดกรองกันเองระหว่างผู้สมัครในกลุ่มเดียวกันให้เหลือกลุ่มละ 5 คน 2. จัดให้มีการเลือกระหว่างผู้ที่ผ่านการคัดกรองเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นให้เหลือกลุ่มละ 3 คน จากนั้นการดำเนินการเลือกในระดับจังหวัดใช้เวลา 15 วัน ให้ผู้สมัครที่ผ่านการเลือกในระดับอำเภอเลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นให้เหลือกลุ่มละ 1 คน
“การหาเสียงหรือแนะนำตัว ห้ามโฆษณาหาเสียงด้วยวิธีการใด ๆ แต่สามารถพูดแนะนำตัว รวมทั้งจัดทำเอกสารแนะนำตัวผู้สมัครเกี่ยวกับประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประวัติและผลงานในการทำงานได้ โดยให้เป็นหน้าที่ของ กกต. ในการจัดทำเอกสารแนะนำตัวของผู้สมัครและจัดส่งเอกสารให้กับผู้สมัครรับเลือก” พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าว
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวถึงวิธีการเลือก ว่า ให้เขียนหมายเลขผู้สมัครของกลุ่มต่างๆ ลงในช่องลงคะแนนในบัตรลงคะแนนแต่ละใบของแต่ละกลุ่ม โดยให้ผู้สมัครซึ่งได้คะแนนมากที่สุดเรียงลำดับลงมาเป็นผู้ได้รับเลือกในแต่ละกลุ่มของแต่ละระดับตามจำนวนที่กำหนดไว้ กรณีกลุ่มใดมีผู้สมัครน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนที่จะพึงมี ให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดตามลำดับเป็นผู้ได้รับเลือก ในกรณีที่ได้คะแนนเท่ากันในลำดับที่ทำให้เกินจำนวนจะพึงมี ให้จับสลากเพื่อให้ได้ผู้ได้รับเลือกในระดับอำเภอครบจำนวนที่จะพึงมี
“เมื่อเลือกในระดับจังหวัดเสร็จสิ้นแล้ว ให้กกต.จังหวัดส่งรายชื่อผู้ได้รับเลือกในระดับจังหวัดให้กกต. เพื่อจัดการเลือกในระดับประเทศ เมื่อกกต.จัดให้เลือกในระดับประเทศเสร็จแล้ว หากกกต. เห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และไม่มีการร้องคัดค้านการเลือกส.ว. ให้กกต.ประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือก ซึ่งได้คะแนนมากที่สุดเรียงลำดับลงมาจำนวน 10 คนในแต่ละกลุ่ม รวมจำนวน 200 คนเป็นผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ว. และให้กกต.ประกาศผลการเลือก ส.ว. ภายใน 7 วันนับแต่วันจัดการเลือกในระดับประเทศ และให้กกต.จัดทำบัญชีสำรองของผู้ผ่านการคัดเลือกไว้บัญชีละ 10 รายชื่อ ในกรณีที่สมาชิกภาพของ ส.ว. ในกลุ่มใดสิ้นสุดลงก่อนวาระ ไม่ต้องจัดให้เลือกใหม่ แต่ให้ผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ว. ในบัญชีกลุ่มนั้นที่อยู่ในบัญชีสำรองในลำดับถัดไปเป็นผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ว. แทน” พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าว
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า บทเฉพาะกาล กำหนดให้ในวาระเริ่มแรกภายหลังที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญให้นำรายชื่อผู้ได้รับการเลือกเป็น ส.ว. ดังกล่าวเสนอต่อ คสช. เพื่อคัดเลือกผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ว.ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยในกลุ่ม ส.ว. ที่ได้มาโดยการเลือกกันเองจะถูกคัดเหลือ 50 คน รวมกับกลุ่มได้รับการสรรหา 194 คน และโดยตำแหน่ง 6 คน รวมจำนวน 250 คน เป็นไปตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวถึงในส่วนของการสืบสวน ไต่สวน หรือวินิจฉัยว่า ก่อนประกาศผลการเลือก กกต.มีอำนาจพิจารณาให้ใบเหลืองแก่ผู้สมัครรับเลือกได้ กรณีภายหลังประกาศผลการเลือก ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครกระทำการทุจริตในการเลือกหรือรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำของบุคคลอื่น ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น โดยให้ยื่นคำร้องคัดค้านก่อนประกาศผลการเลือก หรือภายใน 30 วัน นับแต่ประกาศผลการเลือก
สำหรับส่วนที่เพิ่มเติมจากกฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว. ในอดีต พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ส่วนบทกำหนดโทษในพ.ร.ป.ฉบับนี้ กำหนดโทษเพิ่มเติมขึ้นใหม่ คือ 1. ผู้กระทำการสนับสนุนให้บุคคลเข้ารับหรือไม่เข้ารับการสมัครรับเลือก เพื่อประโยชน์ในการเลือกให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น หรือลงสมัครเพื่อการเลือกโดยมีผลประโยชน์ตอบแทน 2. กรรมการบริหารหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรคการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำการโดยวิธีใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือให้ผู้สมัครได้รับเลือกเป็น ส.ว. 3.กรณีจูงใจให้มีการเลือกหรือซื้อเสียง โดยการให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ เลี้ยง หรือรับจะจัดเลี้ยง หลอกลวง คุกคาม หรือใช้อิทธิพลข่มขู่ โดยทั้งหมดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี และในกรณีมีการฝ่าฝืนและศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้กระทำการฝ่าฝืน ให้ศาลสั่งจ่ายเงินสินบนนำจับไม่เกินกึ่งหนึ่งจากจำนวนเงินค่าปรับแก่ผู้แจ้งความนำจับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับส.ว.ทั้ง 20 กลุ่มอาชีพ ประกอบด้วย 1.ด้านการบริหาร ความมั่นคง หรือการต่างประเทศ 2. ด้านกฎหมาย หรือกระบวนการยุติธรรม 3. ด้านการบัญชี การเงิน การคลัง หรือการงบประมาณ 4. ด้านการศึกษาหรือวิจัย 5.ด้านการสาธารณสุข 6. ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 7.ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม วรรณกรรม การแสดงหรือการกีฬา 8.ด้านกสิกรรม หรือป่าไม้ 9.ด้านปศุสัตว์ หรือประมง 10.ด้านลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน องค์กรลูกจ้าง หรือองค์กรนายจ้าง 11.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค การสื่อสาร สื่อสารมวลชน 12.ด้านการประกอบการธุรกิจ การค้า หรือการธนาคาร 13. ด้านการประกอบการอุตสาหกรรม 14. ด้านการประกอบวิชาชีพ 15. ด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง ที่อยู่อาศัย หรือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 16. ด้านทรัพยากรธรรมชาติหรือพลังงาน 17. ด้านองค์กรชุมชน หรือประชาสังคม 18.ด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส หรือสตรี (เฉพาะตัวผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส หรือสตรี) 19.ด้านผู้ประกอบอาชีพอิสระ และ20. ด้านอื่น ๆ.-สำนักข่าวไทย