นนทบุรี 20 เม.ย. – อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยยอดจดทะเบียนตั้งใหม่ทั่วประเทศเดือนมีนาคมและไตรมาสแรกปีนี้โตขึ้นต่อเนื่องมีหลายปัจจัยหนุน คาดทั้งปีได้ตามเป้ากว่า 75,000 ราย
นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยตัวเลขยอดการจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่เดือน มีนาคม 2561 และไตรมาส 1/2561 โดยธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนมีนาคมมีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท 6,728 ราย เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จำนวน 6,356 ราย เพิ่มขึ้น 372 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2560 จำนวน 6,772 ราย ลดลง 44 ราย คิดเป็นร้อยละ 1 โดยประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 615 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 417 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร 167 ราย คิดเป็นร้อยละ 2 ตามลำดับ
ทั้งนี้ หากคิดมูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนมีนาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 25,255 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จำนวน 17,636 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,619 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43 และเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2560 จำนวน 26,641 ล้านบาท ลดลง 1,386 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5 ส่งผลให้ธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศในช่วงไตรมาส 1/2561 จำนวน 20,049 ราย เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2560 จำนวน 18,905 ราย เพิ่มขึ้น 1,144 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2560 จำนวน 18,802 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 1,247 ราย คิดเป็น ร้อยละ 7 ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 1,854 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1,179 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร 522 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ
ส่วนธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนมีนาคมมีจำนวน 928 ราย เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จำนวน 810 ราย เพิ่มขึ้น 118 ราย คิดเป็นร้อยละ 15 และเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2560 จำนวน 1,167 ราย ลดลงจำนวน 239 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 99 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 65 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ 23 คิดเป็นร้อยละ 2 ตามลำดับ
ทั้งนี้ ธุรกิจเลิกประกอบกิจการไตรมาส 1/2561 มีจำนวน 3,088 ราย เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2560 จำนวน 9,865 ราย ลดลง 6,777 ราย คิดเป็นร้อยละ 69 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2560 จำนวน 2,981 ราย เพิ่มขึ้น 107 ราย คิดเป็นร้อยละ 4 ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 344 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 218 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 และธุรกิจค้าสลากกินแบ่ง 76 คิดเป็นร้อยละ 2 ตามลำดับ
นางกุลณี กล่าวว่า ยอดจดทะเบียนไตรมาสแรกปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2560 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากธุรกิจการก่อสร้างที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่คาดว่าเริ่มดำเนินการได้ในปีนี้ อีกทั้งแนวโน้มการบริโภคภายในประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนผ่านโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยระยะ 2 ซึ่งเป็นการต่อยอดจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจการค้าและภาคธุรกิจบริการเอสเอ็มอีมีบทบาทอย่างมาก จึงคาดว่าจะมีแนวโน้มการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นในปี 2561 โดยไม่น้อยกว่า 75,000 รายได้แน่นอน.-สำนักข่าวไทย