ศปถ. 16 เม.ย.-ศปถ.เผยตัวเลขวันที่ 5 ของการรณรงค์ 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์ 2561 เกิดอุบัติเหตุ 552 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 69 ราย ผู้บาดเจ็บ 589 คน เมาแล้วขับ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ชลบุรี
นายดำรง ลิมาภิรักษ์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2561 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2561 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 15 เมษายน 2561 ซึ่งเป็นวันที่ 5 ของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 552 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 69 ราย ผู้บาดเจ็บ 589 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 42.03 ขับรถเร็ว ร้อยละ 25.72 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.53 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 65.04 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.86 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 36.05 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 32.61 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 23.25 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,031 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,354 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 886,202 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 178,191 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 51,488 ราย ไม่มีใบขับขี่ 46,094 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 20 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ชลบุรี 6 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 27 คน
นายดำรง กล่าวด้วยว่า สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-15 เมษายน 2561 เกิดอุบัติเหตุรวม 3,001 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 323 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,140 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต มี 7 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ระนอง สตูล สมุทรสงคราม หนองคาย หนองบัวบางลำภู และอ่างทอง จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ จำนวน 119 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 19 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 136 คน
นายดำรง กล่าวอีกว่า สำหรับแผนรองรับวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งพบว่าประชาชนส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการเดินทางกลับ ทำให้เส้นทางสายหลักที่เชื่อมต่อจังหวัดอื่น ๆ มุ่งสู่กรุงเทพมหานคร มีปริมาณรถมากนั้น ได้ประสานให้เพิ่มจุดตรวจและจุดบริการประชาชนบนเส้นทางสายหลักเพื่อดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวก โดยเน้นย้ำในการเปิดช่องทางพิเศษบริเวณที่มีการจราจรแออัดและจัดเตรียมบริการรถโดยสารประจำทางให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้มีผู้โดยสารตกค้าง
ด้าน พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3 ยอมรับว่า แม้ช่วงที่ผ่านมา จะมีการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มข้น แต่ตัวเลขเมาแล้วขับไม่ลดลง โดยพบว่า ยอดการจับกุมในคดีเมาแล้วขับสะสม 5 วัน จำนวน 21,829 คดี เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.24 ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เตรียมเสนอปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมาย ด้วยการเพิ่มมาตการเอาผิดกับผู้เมาแล้วขับมากขึ้น โดยมุ่งเน้นผู้ที่กระทำความผิดซ้ำซากเพื่อไม่ให้มีผู้ดื่มสุราแล้วขับบนท้องถนนต่อไป นอกจากนี้ สตช.จะขออนุมัติงบประมาณเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องตรวจจับความเร็วและตรวจวัดแอลกอฮอล์มาใช้ดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป
พล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการบังคับใช้ทางกฎหมาย ในที่ประชุม ศปถ.ได้มีการหารือกันถึงการเพิ่มมาตรการลงโทษ สำหรับผู้กระทำความผิดเมาแล้วขับด้วยการให้ลงโทษตามปริมาณแอลกอฮอล์ ซึ่งหากที่ประชุมเห็นชอบจะมีการเสนอแก้ไขกฎหมายต่อไป
ขณะที่นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า สถิติคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติจากสำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ วันที่ 15 เมษายน 2561 มีจำนวน 3,460 คดี แบ่งเป็น ขับรถขณะเมาสุรา 3,456 คดี ขับรถประมาท 4 คดี สำหรับยอดสะสม 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-15 เมษายน 2561 มีคดีทั้งหมด 6,707 คดี แบ่งเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 6,541 คดี คิดเป็นร้อยละ 97.5 ขับรถประมาท 21 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.31 แข่งรถหรือขับซิ่ง 2 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.02 ขับเสพ 143 คดี คิดเป็นร้อยละ 2.13 ส่วนจังหวัดที่มีสถิติคดีเมาแล้วขับสะสมสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย 455 คดี จังหวัดมหาสารคาม 394 คดี และจังหวัดสุรินทร์ 313 คดี.-สำนักข่าวไทย