กทม. 5 เม.ย.-วธ.ร่วมประชุมหน่วยงานภาครัฐเอกชน วางแนวทางส่งเสริมการใช้ผ้าไทยอย่างยั่งยืน โดยผู้ประกอบการเผยกระแสความนิยมผ้าไทยมีมานานแล้วแต่มาเป็นช่วงๆ วอนภาครัฐเร่งวางแนวทางให้ชัดเจน ไม่ให้คนไทยหลงลืมรากเหง้าตัวเองและสร้างเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมให้ต่างชาติได้รับรู้
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธานการประชุม เรื่อง ‘ผ้าไทยสวมใส่อย่างไรให้ยั่งยืน’ ณ ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยนายวีระ กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้ดำเนินการอนุรักษ์ผ้าไทย โดยจัดเก็บองค์ความรู้เกี่ยวกับผ้าไทยพื้นเมืองทั่วประเทศ ตลอดจนจัดทำหนังสือมรดกภูมิปัญญาผ้าไทย จัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้เรื่องการทอผ้าจากศิลปินแห่งชาติ ศิลปินพื้นบ้านสู่เยาวชน ประกวดออกแบบชุดด้วยผ้าไทย ผ้าท้องถิ่นโดยนักออกแบบรุ่นใหม่ฯลฯเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความ สำคัญและนิยมสวมใส่ผ้าไทยอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ผลสำรวจการแต่งกายด้วยผ้าไทยหรือผ้าพื้นเมืองในสถานศึกษา ทั่วประเทศ เมื่อเดือนมกราคม 2561 ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ก็พบว่าสถานศึกษาในเขตกรุงเทพฯและภูมิภาค รวม 16,327แห่ง พบสถานศึกษาในระดับประถมฯ ส่งเสริมการแต่งกายด้วยผ้าไทยหรือผ้าพื้นเมือง สูงถึงร้อยละ 75.88 ซึ่งส่วนใหญ่เน้นให้สวมใส่ชุดผ้าไทยใน1 วันต่อสัปดาห์ ด้านชุมชนก็มีรายได้จากการส่งเสริมการแต่งกายด้วยผ้าไทยหรือผ้าพื้นเมือง รวมกว่า1,300 ล้านบาท
สำหรับการประชุมวันนี้ มุ่งหวังให้หน่วยงาน องค์กรและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้บริหารงานวัฒนธรรม ศิลปินแห่งชาติผู้ทรงคุณวุฒิด้าน ผ้าไทยประจำปี 2561 เช่น นายธีระศักดิ์ หีบแก้ว นายเผ่าทอง ทองเจือ กลุ่มวัฒนธรรมจังหวัด หน่วยงานราชการ เช่น กรมหม่อนไหม กระทรวงอุตสาหกรรม มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ผู้ประกอบการด้านผ้าไทยและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการรณรงค์ส่งเสริมการใช้ผ้าไทย ให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งการรือจะนำมาสรุปหาแนวทางเพื่อกำหนดขั้นตอนดำเนินการต่อไป
นายกฤษณะ วัลลภาชัย ผู้ประกอบการหม้อฮ้อมกฤษณะจาก อ.ทุ่งโฮ้ง จ.แพร่ ชี้กระแสความนิยมผ้าไทย แท้จริงมีมานานแล้วแต่มักจะมาเป็นช่วงๆเหมือนลมพัดแล้วหายไป ตนเป็นคนรุ่นใหม่ที่จบบริหารแต่ใจรักผ้าไทยคิดว่าเมื่อกระแสความนิยมผ้าไทยมาแรงเช่นนี้ ภาครัฐควรเร่งวางแนวทางดำเนินการให้ชัดเจนอย่างน้อยช่วยให้ผ้าไทยที่ถือเป็นภูมิปัญญาของรุ่นปู่ย่าตายายไม่สูญหาย ต่อยอดให้คนไทยเองไม่หลงลืมรากเหง้าของตัวเอง อีกทั้งยังสร้างเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมให้ชาวต่างชาติได้รับรู้ สนใจนิยมผ้าไทยเช่นเดียวกันคนไทย สร้างรายได้ให้ท้องถิ่นอีกทางหนึ่งด้วย .-สำนักข่าวไทย