กทม. 3 เม.ย. – เหตุการณ์เพลิงไหม้อาคารราชเทวีอพาร์ทเม้นท์ และพบว่าระบบเตือนภัยไม่สมบูรณ์ ประกอบกับเป็นอาคารเก่าที่สร้างมานานกว่า 30 ปี ยากต่อการบังคับใช้กฎหมายจริงหรือไม่
ผู้พักอาศัยภายในราชเทวีอพาร์ทเม้นท์ เล่าถึงนาทีชีวิตที่รอดตายอย่างหวุดหวิดจากเหตุเพลิงไหม้เมื่อคืนนี้ ไม่มีใครคาดคิดกว่า 20 ปีที่อยู่ อาคารจะไม่มีสัญญาณเตือนภัย มารู้ตัวอีกทีก็แทบไม่มีอากาศหายใจ บนความโชคร้ายยังหลงเหลือความโชคดีที่เลือกหนีตาย ลงทางบันไดหนีไฟที่ยังพอใช้งานได้
“ราชเทวีอพาร์ทเมนท์” ได้รับอนุญาตก่อสร้างเมื่อปี 2530 ก่อนกฎกระทรวงฉบับที่ 33 ปี 2535 ที่บังคับใช้ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 ซึ่งกำหนดเกี่ยวกับระบบดับเพลิงป้องกันอัคคีภัยของอาคารสูง ทำให้อาคารนี้ไม่มีการติดตั้งระบบเตือนภัย สปริงเกอร์ภายในตัวอาคาร และถนนเข้า-ออกที่แคบกว่า 10 เมตร
แม้อาคารจะก่อสร้างก่อนกฎกระทรวงฉบับที่ 33 แต่มีกฎกระทรวงฉบับที่ 47 ปี 2540 ออกมาตรการบังคับใช้ดูแลความปลอดภัยอาคารสูง 6 ข้อ เช่น ติดตั้งบันไดหนีไฟ เครื่องมือดับเพลิง ระบบสัญญาณเตือนภัยทุกชั้น หากพบบกพร่อง เจ้าของอาคารต้องปรับปรุงแก้ไขภายในเวลาที่กำหนด หากยังเพิกเฉยระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และปรับวันละ 5,000 บาท จนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ
ปัจจุบันมีอาคารสูงในกรุงเทพฯ เกือบ 3,000 อาคาร แบ่งเป็นปลูกสร้างก่อนประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับที่ 33 กว่า 1,000 อาคาร ส่วนใหญอยู่ในพื้นที่สุขุมวิท คลองเตย ทวีวัฒนา สำเพ็ง และกระจายอยู่ทั่วกรุง ส่วนอาคารที่ปลูกสร้างหลังการประกาศใช้กฎกระทรวงมีเกือบ 2,000 อาคาร มีที่ยังไม่ได้ตรวจสอบเกือบ 400 อาคาร เหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้จะกลายเป็นบทเรียนครั้งสุดท้ายให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย หรือจะปล่อยให้เกิดเหตุสลดซ้ำแล้วซ้ำเล่า. – สำนักข่าวไทย