กรุงเทพฯ 29 มี.ค.-ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ผลการแข่งขันยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอน
จ่ายบิล เติมเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารพาณิชย์
จะทำให้รายได้ส่วนนี้หายไปประมาณ 9,000 ล้านบาทในปีนี้
นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
จำกัด กล่าวว่า จากกรณีที่ธนาคารพาณิชย์แข่งขันยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอน จ่ายบิล
เติมเงิน ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ จะส่งผลกระทบต่อกำไร
ของธนาคารพาณิชย์ในระยะสั้น คาดว่ารายได้จากค่าธรรมเนียมจะหายไป 9,000
ล้านบาทในปีนี้ หรือเติบโตเพียงร้อยละ 2-3 จากปีที่แล้วที่เติบโตสูงถึงร้อยละ 7.1
ส่วนแนวโน้มรายได้ค่าธรรมเนียมในปีหน้ายังคงต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง
เพราะแม้ธนาคารพาณิชย์ จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการโอนลดลง
แต่ธนาคารยังมีค่าธรรมเนียม อื่น ๆ
เช่นนายหน้าจากการขายประกัน บัตรเครดิต ปริวรรตเงินตรา ตลาดทุน มาช่วยชดเชย
ขณะเดียวกันธนาคารจะต้องลดต้นทุนในส่วนอื่นเพื่อรักษาผลประกอบการไม่ให้ลดลง
แต่ในระยะยาวธนาคารจะได้ประโยชน์
เพราะจะมีจำนวนลูกค้าใหม่ที่เข้ามาใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะลูกค้ารายย่อย
ซึ่งธนาคารก็จะได้ข้อมูล และนำไปสู่การปล่อยสินเชื่อ และ บริการอื่นๆ ในอนาคต
“ เราเชื่อว่าในอีก10 ปี การใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จะมีสัดส่วนถึงร้อยละ
50 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 30 เพราะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกรรมทางการเงินผ่านโมบายแบงก์กิ้งและช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เติบโตสูงถึงเท่าตัวหรือ
100%” นางสาวธัญญลักษณ์ กล่าว
นางสาวธัญญลักษณ์ กล่าวอีกว่า ในปี 2560
ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีกำไรสุทธิรวม 174,000 ล้านบาท ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียม
สูงถึง 190,000 ล้านบาท ซึ่งรายได้จากค่าธรรมเนียมคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20
ของรายได้ทั้งหมด
แต่หากพิจารณาเฉพาะค่าธรรมเนียมในการโอนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์และพร้อมเพย์
มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 7-10.- สำนักข่าวไทย