ก.คลัง 28 มี.ค. – กรมธนารักษ์ออกเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ร.10 รวม 9 ชนิดราคา เริ่มจ่ายแลกครั้งแรก 6 เม.ย.นี้ ระบุยังใช้เหรียญกษาปณ์เดิมควบคู่กษาปณ์ใหม่ชำระเงินได้ตามปกติ รับอนาคตปริมาณการใช้เงินสดลดลง ทำต้นทุนการผลิตหายหลายหมื่นล้านบาท
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่จะนำออกจ่ายแลกในระบบเศรษฐกิจวันที่ 6 เมษายนนี้ ทั้ง 9 ชนิดราคา นั้น กรมธนารักษ์ออกแบบเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยด้านหน้าเหรียญทุกชนิดราคากลางเหรียญมีพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ผินพระพักตร์ทางเบื้องขวา ทรงฉลองพระองค์เต็มยศทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์และสายสร้อยจุลจอมเกล้า เบื้องขวามีข้อความว่า “มหาวชิราลงกรณ” เบื้องซ้ายมีข้อความว่า “รัชกาลที่ 10”
ส่วนด้านหลังเหรียญทุกชนิดราคา กลางเหรียญมีอักษรพระปรมาภิไธย วปร ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ เบื้องบนมีข้อความว่า “ประเทศไทย” และคำว่า “พ.ศ.” และเลขของปี พ.ศ. ที่จัดทำเหรียญ เบื้องล่างมีข้อความบอกชนิดราคาของเหรียญ สำหรับเหรียญชนิดราคา 5 บาท และ 50 สตางค์ ลวดลายด้านหน้าและด้านหลังของเหรียญวงในเป็นรูปสิบเหลี่ยม
ทั้งนี้ กรมธนารักษ์พร้อมออกใช้และจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ประกอบด้วย เหรียญชนิดราคา 10 บาท 5 บาท 2 บาท 1 บาท 50 สตางค์ และ 25 สตางค์ ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2561 เป็นต้นไป เวลา 08.30-15.30 น. ณ หน่วยรับและจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์ กรมธนารักษ์ และหน่วยรับจ่ายแลกทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนดังกล่าวจะยังคงใช้ควบคู่กับเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรได้เช่นเดิม ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องกักตุนเหรียญเพื่อการสะสม แต่ยอมรับในอนาคตปริมาณการใช้เงินสด ทั้งธนบัตรและเหรียญกษาปณ์จะปรับตัวลดลง เนื่องจากประชาชนหันมาใช้ระบบ E-payment มากขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตเงินสดลดลง ปัจจุบันการใช้ระบบ E-payment ในภาครัฐสามารถประหยัดงบประมาณลงได้ปีละ 10,000 ล้านบาท หากรวมการลดการใช้เงินสดของภาคประชาชนด้วยจะทำให้ลดต้นทุนการผลิตเงินสดได้หลายหมื่นล้านบาท. – สำนักข่าวไทย