สธ.22ม.ค.-กรมสุขภาพจิตห่วงวัยรุ่นเครียดช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ อาจนำไปสู่การเกิดปัญหาซึมเศร้า แนะพ่อแม่ช่วยกันให้กำลังใจ-งดตำหนิและให้มองทางเลือกเผื่อ มหาวิทยาลัยเปิดอื่นๆแทน
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ให้สัมภาษณ์หลังตรวจเยี่ยมสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม.เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการตามนโยบายในปี 2561 วันนี้ (22 มี.ค.) ว่า ได้รับรายงานสถิติจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นฯ พบว่า ในปีงบประมาณ 2560 มีผู้ป่วยวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้าเข้ารักษาจำนวน 312 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึง 2 เท่าตัว โดยพบร่วมกับโรคทางจิตเวชอื่นๆ 3 อันดับแรก ได้แก่ โรคภาวะบกพร่องทางการเรียน โรคสมาธิสั้น และโรคออทิสติก และมีวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้ารุนแรง มีความคิดทำร้ายตัวเอง 14 คน สิ่งสำคัญอีกอย่างสำหรับวัยรุ่น คือ ภาวะการปรับตัวผิดปกติ (adjustment disorder) ซึ่งมีสาเหตุจากภาวะกดดันบางอย่าง ทำให้เกิดความเครียดจนไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม ซึ่งถ้าไม่สามารถปรับตัวได้ ก็จะกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อไปว่า เรื่องที่น่าห่วงขณะนี้ เป็นช่วงของการสอบเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของวัยรุ่น หากผลการสอบออกมาและสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องการได้ก็จะมีความชื่นชมยินดี แต่ในส่วนของผู้ที่สอบเข้าเรียนไม่ได้ตามที่ตนเองต้องการ หรือไม่สามารถเรียนได้ดีตามเป้าหมายที่พ่อแม่คาดหวังไว้ ก็ทำให้เกิดความผิดหวัง ความเครียด และอาจเป็นต้นตอนำไปสู่ปัญหาซึมเศร้าได้ จึงต้องช่วยกันดูแลอย่างเหมาะสม ซึ่งครอบครัวเป็นบุคคลสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ความเสียใจ ความผิดหวังของวัยรุ่นครั้งนี้ผ่านไปได้
จึงขอให้ครอบครัวพ่อแม่ปฏิบัติ 4 ประการ ดังนี้
1.คนในครอบครัวต้องตั้งสติ เพื่อให้เป็นที่พึ่งของวัยรุ่น เนื่องจากวัยรุ่นต้องการความเข้าใจ ต้องการกำลังใจ คนในครอบครัวต้องช่วยกันดูแลจิตใจ รับฟังซึ่งกันและกัน ไม่ตำหนิกัน เพื่อลดการซ้ำเติมความเสียใจความผิดหวังให้ลูก
2.ช่วยกันปรับทัศนคติของลูก ให้มองว่าการประสบความสำเร็จในชีวิตอนาคตไม่ได้ขึ้นกับการสอบหรือขึ้นกับชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว ยังมีอีกหลายอย่าง เช่น การมุ่งมั่นตั้งใจ การปรับตัว ซึ่งถ้าปรับตัวแก้ไขกับเหตุการณ์ครั้งนี้ไปได้ จะเกิดความเข้มแข็งและก้าวเดินไปสู่อนาคตต่อไป
3.ให้ลองเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับตนเอง ในการเลือกเรียนต่อหลายทาง เช่น เรียนสายอาชีวะ เรียนในมหาวิทยาลัยเปิดอื่นๆ
และ 4. หากรู้สึกเสียใจ หรือมีอาการซึมเศร้า มีความคิดอยากทำร้ายตนเอง ให้โทรรับบริการปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง หรือ ปรึกษาผ่านแฟนเพจสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ช่วง 14.30 – 22.30 น.
ด้าน พญ.รัชนี ฉลองเกื้อกูล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้สถาบันฯ ได้พัฒนาแนวทางดูแลรักษาวัยรุ่นที่มีปัญหาซึมเศร้า โดยร่วมกับราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย เป็นคู่มือให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถใช้ดูแลรักษาด้วยยา สังคม และจิตใจ ได้อย่างมีมาตรฐาน และในเดือนเมษายน 2561 นี้ สถาบันฯ จะจัดกลุ่มบำบัดวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ที่มีภาวะซึมเศร้า ทุกวันพุธ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยเน้นการปรับเปลี่ยนที่ความคิดเป็นหลัก (Cognitive Behavioral Therapy : CBT) เพื่อให้วัยรุ่นรู้จักการคิดในแง่บวก มองโลกในแง่ดี ให้คุณค่าตัวเอง เพื่อลด ละ เลิกความเศร้าได้ด้วยตนเอง ที่สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ โดยจะทำการตรวจคัดกรองก่อน
ทั้งนี้ วัยรุ่นทั่วไปสามารถผ่อนคลายความเครียดด้วยกิจกรรมที่ชื่นชอบได้หลากหลายวิธี เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา เล่นดนตรี ดูหนัง ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ เป็นต้น เพื่อให้สมองผ่อนคลาย จิตใจจะสดชื่นแจ่มใสขึ้น.-สำนักข่าวไทย