ทำเนียบฯ 20 มี.ค.-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุ ครม.อนุมัติงบกลางกว่า 3 หมื่นล้านบาท พัฒนาพื้นที่ เพื่อสร้างรายได้เศรษฐกิจรากฐานให้มากขึ้น
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบกลางกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนแผนงานต่าง ๆ ของกระทรวงมหาดไทย ว่า งบประมาณ 20,000 ล้านบาทโดยประมาณ จะถูกนำลงไปใช้ในหมู่บ้านและชุมชนในกรุงเทพฯ กับเขตเทศบาล รวมทั้งสิ้นกว่า 82,000 แห่ง เฉลี่ยแล้วจะได้งบประมาณแห่งละ 200,000 บาท ซึ่งเป็นงบที่คณะกรรมการหมู่บ้านใช้โดยตรง แต่เวลาทำแผนงานโครงการ จะผ่านการตรวจสอบโดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ สำนักงบประมาณ รวมถึงภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ไปร่วมพิจารณาถึงความเหมาะสมของโครงการ จึงจะมีการอนุมัติให้ดำเนินการ แต่การเบิกจ่ายจะขึ้นตรงกับคณะกรรมการหมู่บ้าน โดยไม่ต้องผ่านกระทรวงมหาดไทย
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ส่วนอีก 2,500 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่ทำให้กระทรวงการคลังเกี่ยวกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อเป็นงบประมาณของคณะผู้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบรายละเอียดของบุคคลที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่ของกระทรวงมหาดไทยเพียงอย่างเดียว เพื่อเป็นค่ารถและค่าอื่น ๆ ในการสำรวจ และงบประมาณอีก 9,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP ที่จะเชื่อมโยงกับแผนการพัฒนาพื้นที่ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่างบประมาณส่วนนี้ อาจจะซ้ำซ้อนกับโครงการไทยนิยม ยั่งยืน พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้หลักการกว้าง ๆ คือ ต้องเป็นความต้องการของพื้นที่ แต่ต้องตอบสนองเรื่องการทำมาหากินของประชาชนเป็นหลัก แต่งานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน เช่น การทำถนน ก็ให้ใช้งบปกติ แต่ถ้าเป็นการทำถนนเพื่อจุดประสงค์ด้านการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ชุมชนดีขึ้น จะเป็นการใช้งบประมาณในโครงการไทยนิยม ยั่งยืน
ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการให้งบประมาณในส่วนนี้กับชุมชนเป็นเหมือนการซื้อใจประชาชนก่อนเลือกตั้งหรือไม่นั้น พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมา ตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะดี แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่าฐานรากยังไม่ดี งบประมาณเหล่านี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อแก้เศรษฐกิจฐานรากของประชาชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนจะมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร ก็ยังมีคนวิพากษ์วิจารณ์อยู่อย่างนั้น
พล.อ.อนุพงษ์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ว่า ขณะนี้จบรอบที่ 1 แล้วที่ลงไปพูดคุยระดับตำบล ซึ่งเป็นการสร้างความเข้าใจกับประชาชน สร้างความรับรู้ด้านประชาธิปไตย ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งความต้องการของประชาชน ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมความเห็นที่ไปรับฟัง เพื่อมาแปลงเป็นแผนงานโครงการในลักษณะที่ทำได้.-สำนักข่าวไทย