ประจวบคีรีขันธ์ 19 มี.ค.- นายกสมาคมฯ สภาวะโลกร้อนไม่เห็นด้วยแนวคิดเก็บภาษีเลี้ยงสุนัขและแมว อาจมีปัญหาตามมา สัตว์เลี้ยงถูกปล่อยทิ้ง ระบุแก้ปัญหาพิษสุนัขบ้าต้องควบคุมให้จริงจังทั้งระบบ โดยเฉพาะข้อกฎหมายบังคับใช้
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ให้สัมภาษณ์กรณีมีการเสนอแนวคิดเก็บภาษีเลี้ยงสุนัขและแมว เพื่อลดปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าว่า ยังไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถทำได้ เนื่องจากมีการบังคับใช้กฎหมายและประชาชนอยู่ภายใต้ข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด สำหรับประเทศไทยหากใช้หลักการนี้สุนัขและแมวจำนวนมากอาจถูกนำไปปล่อยทิ้ง ซึ่งไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการจ่ายภาษีเพิ่ม สำหรับแนวทางการดูแลสุนัขและแมวควรเป็นอำนาจหน้าที่หลักขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ทั้งการทำหมัน ฉีดวัคซีน หรือนำสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของไปอยู่ในสถานที่เหมาะสม เป็นการควบคุมจำนวนได้อย่างเด็ดขาด แต่ที่ผ่านมา อปท.ส่วนใหญ่ไม่ได้ดำเนินการจริงจัง ขณะที่ พ.ร.บ.สาธารณสุข 2535 กำหนดให้ อปท.มีอำนาจในการบริหารจัดการโดยตรง หากผู้ใดพบเห็นสุนัขหรือแมวจรจัดในพื้นที่สาธารณะก่อเหตุรำคาญหรือเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดโรคพิษสุนัขบ้า สามารถแจ้งเอาผิดกับ อปท.ในท้องที่นั้นได้ เพราะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญทุกฝ่ายต้องช่วยกัน หลังมีการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในหลายจังหวัด เนื่องจากวงรอบสืบพันธุ์ของสุนัขและแมวค่อนข้างถี่มีการตกคอกเร็วทำให้มีปริมาณสุนัขและแมวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายสัตวแพทย์ยุษฐิระ บัณฑุกุล ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า หลังจากประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราวโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่หมู่ 14 ต.หินเหล็กไฟ อ.หัวหิน และหมู่ 6 ต.วังก์พง อ.ปราณบุรี ได้ระดมเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคในรัศมี 5 กม.รอบจุดเกิดโรค และฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้สุนัขทุกตัว พร้อมจับสุนัขจรจัดกลุ่มเสี่ยงกักดูอาการที่ศูนย์กักกันสัตว์เพชรบุรี 6 เดือน ส่วนวัคซีนล็อตใหม่เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพผ่านการตรวจสอบจาก อย. ยืนยันว่ามีเพียงพอ ที่ผ่านมาได้ฉีดวัคซีนให้สุนัขในพื้นที่หินเหล็กไฟวันละกว่า 1,000 ตัว จากจำนวน 8,000 ตัว โดยจะดำเนินการให้เสร็จภายใน 7 วัน
นายสัตวแพทย์ยุษฐิระ กล่าวว่า การตรวจหัวสุนัขแบ่งเป็น 2 กรณี คือ สุนัขที่แสดงอาการดุร้ายกัดคน กัดสัตว์ และป่วยตาย ปีนี้ส่งไปตรวจพิสูจน์ยืนยันผลพบการติดเชื้อพิษสุนัขบ้า 8 หัว นำไปสู่การประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ ขณะที่อีกส่วนได้เฝ้าระวังเชิงรุกด้วยการสำรวจทุกพื้นที่ว่ามีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า โดยปีนี้ได้สำรวจหัวสุนัขที่ป่วยตาย หรือประสบอุบัติเหตุจำนวน 50 หัว ตรวจพบการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าเพียง 1 หัว หรือร้อยละ 2 ถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง.-สำนักข่าวไทย