กรุงเทพฯ 19 มี.ค. – 14 แบงก์ไทยร่วมสร้าง Thailand Blockchain Community Initiative แห่งแรกในไทย เริ่มต้นด้วยโครงการบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนระบบบล็อกเชน ปลอดภัยสูง ปลอมแปลงยาก
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า 14 ธนาคารในไทยได้ลงนามกับรัฐวิสาหกิจและองค์กรธุรกิจใหญ่ 7 แห่ง ร่วมกันสร้าง Thailand Blockchain Community Initiative แห่งแรกในไทย เพื่อนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมายกระดับประสิทธิภาพและความสามารถการแข่งขันทางธุรกิจของประเทศ โดยเริ่มต้นด้วยโครงการบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนระบบบล็อกเชน โดยปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างทดสอบภายใต้การกำกับของ ธปท. (Regulatory Sandbox) นอกจากนี้ ธปท.ยังร่วมมือกับธนาคารใช้บล็อกเชนพัฒนาขั้นตอนการออกพันธบัตร (บอนด์) เร็วขึ้นจาก 15 วัน เหลือ 2 วัน รวมถึงการลดระยะเวลาการชำระเงินระหว่างสถาบันการเงินเร็วขึ้น
นายปรีดี ดาวฉาย ประธาน สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ปี 2560 ตัวเลขประมาณการของประเทศไทยที่ออกหนังสือค้ำประกันผ่านระบบธนาคารพาณิชย์มูลค่ารวมกว่า 1.35 ล้านล้านบาท คิดเป็นจำนวนมากกว่า 500,000 ฉบับ ขยายตัวจากปีที่แล้วร้อยละ 8 ในจำนวนนี้เป็นการออกเอกสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ร้อยละ 15-20 ดังนั้น ภาพรวมระบบเศรษฐกิจไทยยังคงพึ่งพาการออกหนังสือค้ำประกันในรูปแบบเอกสารที่เป็นกระดาษเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายและภาระในการจัดการด้านเอกสาร
นายปรีดี กล่าวว่า โครงการบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนระบบบล็อกเชนนี้มีความปลอดภัยสูง ตรวจสอบง่าย ปลอมแปลงยาก สะดวกรวดเร็วกว่ารูปแบบเดิม ซึ่งสามารถเข้าตรวจสอบได้ทุกที่ทุกเวลา และจะบันทึกประวัติต่อเป็นห่วงโซ่แบบอัตโนมัติทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง เอื้อให้เกิดการเชื่อมต่อไปยังเครือข่ายธนาคารและภาคธุรกิจต่าง ๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต และรองรับการทำธุรกรรมและตรวจสอบสถานะได้ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ ประกอบด้วย ธนาคาร 14 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารทิสโก้ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารธนชาต ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารยูโอบี ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) และธนาคารออมสิน และธุรกิจขนาดใหญ่ 7 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล บจก.พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง บมจ.ไออาร์พีซี และเครือปูนซิเมนต์ไทย โดยมีบริษัทผู้เชี่ยวชาญช่วยสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ให้คำปรึกษาด้านการจัดการภาพรวมโครงการ รวมถึงด้านกฎหมาย 4 บริษัท ได้แก่ แอคเซนเจอร์เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และไอบีเอ็ม นับเป็นรูปแบบความร่วมมือที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย. – สำนักข่าวไทย